1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2565 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 10 – 17 พฤษภาคม 2565 บริเวณภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
1.2 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2565 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 11 – 19 พฤษภาคม 2565 บริเวณสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และสถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ถึงสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
2. การเข้าสู่ฤดูฝนปี 2565
ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ประเทศไทยคาดว่าจะสิ้นสุดฤดูร้อน และเริ่มต้น เข้าสู่ “ฤดูฝน” ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อยประมาณร้อยละ 3 แต่จะน้อยกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วงตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง และในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด
3. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรมทรัพยากรน้ำ สำรวจจุดที่ตั้งสถานีระบบเตือนภัยล่วงหน้า ณ บ.ภูเวียง บ.สันติภาพ ต.บ่อ อ.เมืองน่าน จ.น่าน และ บ.สบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน และได้ตรวจสอบพร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาสถานีระบบเตือนภัยล่วงหน้า ในพื้นที่จังหวัดน่านและแพร่ จำนวน 33 สถานี เพื่อเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัยให้มีสภาพพร้อมใช้งาน สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ทันเหตุการณ์
4. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 65 ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 15-17 พ.ค. 65ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
5. สถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบัน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยในช่วงวันที่ 5 – 11 พ.ค. 65 มีพื้นที่ ประสบอุทกภัย 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ นครพนม อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา รวม 10 อำเภอ 13 ตำบล 32 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 675 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (สุราษฎร์ธานี) ปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยใน 2 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา จำนวน 3 หมู่บ้าน 2 ตำบล 2 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 65 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ลดลง