นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมปาฐกถาในการประชุม German – Thai Conference หัวข้อ “The Future is Rail”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมปาฐกถาในการประชุม German – Thai Conference หัวข้อ “The Future is Rail” และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง เพื่อความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมระบบราง ในเยอรมนีและสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเกออร์ก ชมิดท์เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ร่วมปาฐกถาในการประชุม German – Thai Conference ในหัวข้อ “The Future is Rail” และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง เพื่อความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมระบบรางในเยอรมนีและสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย

โดยมี นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติ ได้แก่ ศ.ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล ประธานสมาคมระบบรางเยอรมัน – ไทย และ นายอักเซล ชุพเพ่ (Axel Schuppe) ผู้จัดการสมาคมอุตสาหกรรมระบบรางในเยอรมนี ผู้แทนภาคเอกชนและภาควิชาการที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมระบบรางทั้งของไทยและเยอรมนี และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์สาทร กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางระบบรางและการขนส่งสาธารณะ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญภายใต้คำแถลงนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย โดยกำหนดให้การคมนาคมทางระบบรางรางเป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ สามารถรองรับการขนส่ง และการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ โดยคำนึงถึงแนวคิดเรื่องความสะดวก ความปลอดภัย ตรงต่อเวลา และความคุ้มค่า รวมถึงช่วยลดการใช้พลังงาน ซึ่งอาจบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการขนส่ง

และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงคมนาคม จึงให้ความสำคัญต่อการกำหนดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการรถไฟของไทยตลอดจนระดับการให้บริการ โดยแผนดังกล่าวจะกล่าวถึงโครงสร้างพื้นฐานของระบบรางในอนาคตและการให้บริการระบบรางสาธารณะ ด้วยการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ และเทคนิคการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน การขนส่งสินค้า รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการในประเทศไทย โดย กระทรวงคมนาคม ได้ร่วมทำงาน อย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ในการแก้ปัญหาการขนส่งจากรถบรรทุกเป็นระบบราง นอกจากนี้ ยังมีโครงการ MR Map ที่จะส่งเสริมการบูรณาการแนวทางการแก้ปัญหาการขนส่ง และการจราจรทางรถไฟ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบเพื่อจัดการกับปัญหาการจราจรติดขัดและมลภาวะ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

กระทรวงคมนาคม ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในเขตปริมณฑลต่อไป ปัจจุบันมี 11 เส้นทางและภายในปี 2579 จะมี 14 เส้นทาง รวมระยะทาง 554 กิโลเมตร ระบบรถไฟฟ้าไม่เพียงแต่ลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล แต่ยังช่วยปรับปรุงการสัญจรภายในเมืองอีกด้วย นอกจากนี้ เราวางแผนที่จะพัฒนาระบบขนส่งไฟฟ้าในเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และนครราชสีมาในการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ในภูมิภาค รัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงการใช้รถไฟเป็นรูปแบบหลักในการเชื่อมต่อการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่ท่าเรือ ทางทะเล สนามบิน และท่ารถบรรทุก ภายในปี 2572 กระทรวงคมนาคม จะขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มจาก 173 กิโลเมตร เป็น 3,327 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในประเทศ

ปัจจุบันมีโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการเหล่านี้เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อภายในภูมิภาคอาเซียน ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน โครงการรถไฟฟ้าหลายโครงการได้ใช้เทคโนโลยี จากประเทศเยอรมนี จึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในเยอรมนี

โดยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 กระทรวงคมนาคมของไทยและเยอรมนีได้ลงนามในข้อตกลงขยายระยะเวลาร่วมประกาศเจตจำนง (JDI) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาทางรถไฟในประเทศไทย โดยขยายเวลา JDI 2 ครั้ง นับตั้งแต่ลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ความร่วมมือทวิภาคีภายใต้ JDI ได้นำไปสู่ความคิดริเริ่มที่มีแนวโน้มดีหลายประการ รวมถึงการจัดตั้ง GTRA ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยและเยอรมนี โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้ และฝึกอบรมในทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป