กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2565 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7 – 10 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565

กระทรวงมหาดไทย เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ด้วยการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย จัดทำแผนเผชิญเหตุได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ โดยจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ดินถล่มในหมู่บ้าน/ชุมชน เครื่องจักรเครื่องมือ แผนรองรับการอพยพและการซักซ้อมแนวทางปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันเมื่อเกิดสถานการณ์ พร้อมทั้งวางแผนการติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่เสี่ยงไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ

3. สภาพอากาศ

การคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 9 –10 พ.ค. 2565 พบว่า ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่ พัดปกคลุมประเทศไทย อ่าวไทย และภาคใต้มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ส่วนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น สำหรับพายุไซโคลน “อัสนี” บริเวณอ่าวเบงกอล คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนบน ในช่วงวันที่ 9-10 พ.ค. 65 โดยพายุนี้จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่จะทำให้ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทย อ่าวไทยและทะเลอันดามัน มีกำลังแรงขึ้น

4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

4.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 45,918 ล้าน ลบ.ม. (56%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 40,139 ล้าน ลบ.ม. (56%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,320 ล้าน ลบ.ม. (60%)และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,459 ล้าน ลบ.ม. (48%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา

4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 9,970 ล้าน ลบ.ม. (40%) โดยเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

5. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมการวางระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติในพื้นที่เขตเสี่ยงภัยผ่านมือถือ (Cell Broadcast) โดยเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ที่ทำหน้าที่แจ้งเตือนภัยสามารถทำการแจ้งเตือนภัยได้อย่างทั่วถึงผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการส่งข้อความให้เข้าถึงผู้คนนับล้านในบริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องการได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนสู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว และทั่วถึง