ส.ป.ก. ประชุมหารือ เรื่องการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30 น. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่องการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ของ ส.ป.ก. โดยมี นายเอกพงศ์ น้อยสร้าง รองเลขาธิการ ส.ป.ก. พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนัก/กอง/ศูนย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพฯ และระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom Meetings

ในการนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก. ได้เน้นย้ำดังนี้

1. โครงการต่าง ๆ ที่ทำ จะต้องนำไปต่อยอดให้เห็นเป็นผลลัพธ์ (Outcome) ให้ได้ โดยให้มองงานที่จะทำเป็นทั้งระบบ ไม่มองเป็นงานย่อย

2. เรื่องของสมุนไพร ที่เป็นโรงอบ ให้หาวิธีการพัฒนาให้สามารถต่อยอดได้ ทั้งเรื่องการตรวจรับรอง เรื่องการทำ GMP เรื่องของการยกระดับคุณภาพสมุนไพรในพื้นที่ ส.ป.ก. ให้มีมูลค่าสูงในมิติของธุรกิจ มีหลายโครงการที่จะต้องมองให้ทะลุ ก่อนถึงวันสรุปจัดทำโครงการ

3. ตอนนี้ยังไม่มีโครงการอาสาสมัคร ส.ป.ก. ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ควรจะมี

4. เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการขับเคลื่อน ในจุดนี้ต้องสร้างให้มีความแข็งแรง เนื่องจากพื้นที่ ส.ป.ก. มีเยอะ แต่มีทีมดูแลน้อย ดังนั้นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยตรงนี้ ใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย ให้เกิดการเชื่อมโยง เพื่อให้สามารถดูแลได้ทั่วถึง

5. เรื่องเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะใช้พื้นที่ของ ส.ป.ก. ในการทำเกษตรกรรมที่เป็นเรื่องของงานวิจัย เกษตรแบบประณีต ทาง ส.ป.ก. จะต้องหาวิธีการทำตรงนี้ให้ได้ จะทำเองหรือจะดึงความร่วมมือเข้าไปยังพื้นที่ เป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการ

6. ทุกโครงการให้มองเรื่อง Outcome และความคุ้มค่าเรื่องงบประมาณ ทั้งโครงการแหล่งน้ำ และที่ดิน หน้าที่หลักของ ส.ป.ก. คือการจัดที่ดิน ส่วนการเดินหน้าต่อ จะเป็นการเดินในเชิงการพัฒนา

7. ไม่ทำโครงการเดียวกันในทุกจังหวัด ให้ใช้หลักพื้นที่สร้างโครงการ ไม่ใช่โครงการสร้างพื้นที่ ถ้าอยากให้พื้นที่นั้นมีความ อยู่ได้ อยู่ดี มีความสุข จะต้องเอาโครงการอะไรลงไป ให้ใช้หลักคิด ฐานคิด เช่น ทำไมต้องทำเรื่องของ GMP เหตุผลก็คือ เคยให้โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้ว จึงมีโครงการที่ต่อเนื่อง จึงต้องไปให้สุดทาง จากพื้นที่ปลูกสมุนไพร จึงหาวิธีการให้ชาวบ้านสามารถพัฒนาสินค้าไปสู่เรื่องของอาหารปลอดภัย เพื่อส่งต่อไปยังตลาด ทั้งหมดนี้คือฐานคิด ที่คิดมาจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ คิดมาจากความต้องการของประชาชน คิดมาจากการวางอนาคตไว้ว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ ภายใต้บริบทปัจจุบัน เราจะสามารถแตกโครงการออกไปได้