วันที่ 5 พ.ค.2565 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ในงาน APEC Education Conference “The Collaborative Direction of Education, Employment and Decent Work in the VUCA World” นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการประชุม APEC Education Conference “The Collaborative Direction of Education, Employment and Decent Work in the VUCA World” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเครือข่ายด้านการศึกษาของเอเปค (Education Network : EDNET) ที่จัดขึ้นในหัวข้อ ”
กระทรวงศึกษาธิการได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว และวันนี้ตนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดการประชุมในกรอบความร่วมมือเอเปคอีกครั้ง ณ กรุงเทพฯ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีทางวิชาการที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความผันผวน
รมว.ศธ. กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะเป็นอย่างมาก โรงเรียนและสถานที่ทำงานต่างต้องปรับตัวเพื่อให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงัก โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ว่าควรมีแนวหรือมาตรการอย่างไรที่จะเดรียมตัวให้พร้อมกับโลกในยุคที่ผันผวน ซึ่งประเทศไทยมีความพยายามที่จะดำเนินนโยบายที่หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
โดย ศธ. ให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น คือ ประการแรก กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทั้งสายสามัญฯ และ สายอาชีพ อย่างมีคุณภาพในสถานศึกษา ผ่านการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เน้นการเรียนรู้ด้านสะเต็ม (STEM) ศิลปะ และสหกิจศึกษา และให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยจัดทำโครงการ “พาน้องกลับห้องเรียน” เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากการออกกลางคันของผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนกลับเข้าสู่ห้องเรียนเต็มจำนวน
นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า ประการที่สอง มุ่งมั่นยกระดับการพัฒนาการศึกษาให้ได้มาตรฐานนานาชาติ ผ่านการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนและการมีงานทำ ตลอดจนยังได้เข้าร่วมโครงการ PISA และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับฟังประสบการณ์ของเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ เกี่ยวกับ PISA ในการประชุมนี้ และประการที่สาม ประเทศไทยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างกัน โดยร่วมกับประเทศสมาชิกในภูมิภาคจัดทำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงผลการศึกษาระหว่างกัน ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยให้สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ขบคิดถึงโลกที่ผันผวน และสามารถนำองค์ความรู้ไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานครั้งนี้ได้สนับสนุนให้การดำเนินงานตามแผนงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปคสำเร็จต่อไป