นายกรัฐมนตรี ชื่นชม วธ. จัดงาน“ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” พร้อมแนะปี 66 จัดงานต่อเนื่องเน้นพื้นที่ทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรี ชื่นชม วธ. จัดงาน“ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” พร้อมแนะปี 66 จัดงานต่อเนื่อง เน้นพื้นที่ทั่วประเทศ หนุนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเชิญชวนร่วมงาน “สืบศิลป์ถิ่นอีสาน ESAN DO DEE” ณ จังหวัดกาฬสินธุ์

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 240 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่างวันที่ 20 – 24 เมษายน 2565 ณ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีกิจกรรมใน 9 พื้นที่หลัก และ 20 แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ แห่งราชจักรีวงศ์ และพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์

โดยมีกระแสตอบรับที่ดีจากประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้โดยมีผู้รับชมผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ มากกว่า 19 ล้านคน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอดการจัดงาน มากกว่า 3 แสนคน และก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศเป็นมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลโดย วธ. ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้จนประสบความสำเร็จ

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า วธ. ได้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งในที่ประชุม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมการจัดงานดังกล่าวของ วธ. และแนะนำแนวทางการจัดงานสำหรับปี พ.ศ. 2566 ว่า วธ. ควรจัดงานและกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมในลักษณะนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และไม่จำเป็นต้องจัดงานเฉพาะวาระหรือโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ของประเทศไทย โดยสามารถเลือกพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ

ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ วธ. เตรียมจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย “สืบศิลป์ถิ่นอีสาน ESAN DO DEE” ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤษภาคม 2565 เพื่อขับเคลื่อน โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ตามนโยบายรัฐบาล

รวมถึง วธ.มีนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จึงมุ่งส่งเสริมและเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน ศิลปินพื้นบ้าน ได้มีโอกาสถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่เยาวชนและประชาชน อีกทั้งสนับสนุนการนำสินค้าผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯ ในจังหวัดต่าง ๆ มาสาธิตและจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย