1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2565 ลงวันที่ 29 เมษายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 1 – 5 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ภาคตะวันออก จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตราด และภาคใต้ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่กู้ภัยและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากพายุฤดูร้อน พร้อมทั้งได้ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้าง และเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ โดยได้ตรวจสอบบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำและบ่อสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน และทำการลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมและได้ดำเนินการขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช เพื่อเปิดทางระบายน้ำ
3. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 2 – 4 พฤษภาคม 2565 พบว่ามีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับอ่าวไทยและภาคใต้มีลมฝ่ายตะวันตกพัดปกคลุม ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
4.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 46,660 ล้าน ลบ.ม. (57%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 40,869 ล้าน ลบ.ม. (57%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,332 ล้าน ลบ.ม. (61%)และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 2,458 ล้าน ลบ.ม. (48%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนนฤบดินทรจินดา
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 3,511 ล้าน ลบ.ม. (19%) โดยเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย
5. สถานการณ์น้ำท่า
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยถึงปกติ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น