ก.แรงงาน รับลูกนายกฯ อัพสกิลช่างฝีมือ เทคโนฯ ชั้นสูง

กพร. กระทรวงแรงงาน สนองนโยบายรัฐบาล พัฒนาทักษะ ติว Automation Studio 6.2 เดินหน้าสู่ยุค 4.0
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การเพิ่มพูนสมรรถนะแรงงานให้ตรงกับความต้องการตลาด ซึ่งการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จะก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ 10 จังหวัดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แรงงานที่มีทักษะฝีมือจึงเป็นที่ต้องการ และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมา กพร. กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือคนทำงาน ทุกเพศ ทุกวัย ให้เป็นแรงงานทักษะ (Skilled labour) สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบกิจการ เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน


นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ล่าสุด กพร. ดำเนินการโครงการฝึกอบรมหลักสูตรออกแบบอัตโนมัติ โดยการใช้โปรแกรม Automation Studio 6.2 ให้แก่ครูฝึก กพร. และพนักงานของสถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาขาเครื่องกล และสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติ ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ และการสาธิตภายใต้หัวข้อการติดตั้ง การเขียนโปรแกรม Automation Studio 6.2 การออกแบบวงจรและจำลองการทำงานของระบบนิวเมติกส์ ไฮดรอลิกส์ การออกแบบภาพและการเชื่อมโยงระบบกลไกภาพ 3D จะฝึกอบรมจำนวน 2 รุ่น รุ่นแรกระหว่างวันที่ 21-25 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 15 พระนครศรีอยุธยา รุ่นที่สอง ระหว่างวันที่ 9-13 กรกฎาคม 2561 เมื่อผ่านการฝึกอบรมบุคคลเหล่านี้จะเป็นวิทยากรต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้และหน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) และสถานประกอบกิจการ พร้อมจัดทำเป็นหลักสูตรกลางในการเผยแพร่ความรู้ด้วย

  
“ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการผลิต เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ได้นิยมการนำระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ในเครื่องจักรที่มีกลไกซับซ้อนและทันสมัย มีการทำงานที่สัมพันธ์กันตลอดเวลา ส่งผลดีในการลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาการทำงาน ทำงานได้อย่างแม่นยำ และทำงานที่เกินความสามารถของมนุษย์ในด้านน้ำหนัก ความอดทน ความสูง ซึ่งการนำระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้งานนั้น ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการออกแบบระบบ การจำลองการทำงาน เพื่อลดความผิดพลาดเมื่อนำอุปกรณ์มาใช้งานจริง ขั้นตอนนี้มีความยุ่งยากต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ โดย Automation Studio 6.2 เป็นโปรแกรมที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งในการออกแบบระบบ การจำลองการทำงาน และการจัดเอกสาร ในระบบอัตโนมัติ จึงมีการเพิ่มทักษะความรู้ในสาขานี้ โครงการนี้จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งของ กพร. ที่ใช้แนวทางการฝึกอบรมขยายทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีชั้นสูง และผลิตช่างฝีมือรองรับการขยายอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ” อธิบดี กพร. กล่าว