“ประธานบอร์ด กพฐ. แจง รองนายกฯวิษณุ” ข่าวการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะคลาดเคลื่อน ย้ำยังไม่สั่งยกเลิกหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551

“ประธานบอร์ด กพฐ. แจง รองนายกฯวิษณุ” ข่าวการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะคลาดเคลื่อน ย้ำยังไม่สั่งยกเลิกหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 – ยังไม่ให้ใช้หลักสูตรใหม่เป็นการทั่วไป

ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนพร้อมด้วย ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้เข้าพบ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยได้หารือและชี้แจงเกี่ยวกับการร้องเรียนเรื่องการใช้กรอบหลักสูตร​แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ….(หลักสูตรฐานสมรรถนะ)​ ซึ่งตามที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ พบว่า ​มีการสื่อสารและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากหลักวิชาการไปใน​บางส่วน โดยมีข้อเท็จจริงที่สำคัญ 3 ประเด็น คือ

1. บอร์ด กพฐ. ยังไม่เคยมีคำสั่งยกเลิกหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ(ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560 )และให้ใช้หลักสูตรใหม่เป็นการทั่วไป

2. ร่างกรอบหลักสูตรฯ และคู่มือการใช้กรอบหลักสูตรฯฐานสมรรถนะ ให้นำไปทดลองใช้ในโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรม ตามความสมัครใจ ซึ่งการที่ที่ประชุม กพฐ.เห็นชอบในข้อเสนอที่จะประกาศใช้หลักสูตรในเดือนตุลาคม 2565 หากคณะทำงานบรรณาธิการกิจ (ร่าง) กรอบหลักสูตร​แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ….และ (ร่าง) คู่มือการใช้กรอบหลักสูตร​แกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ….ดำเนินการปรับปรุงเสร็จภายใน 2-3 เดือน ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน

3.กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด ต่างก็เน้นให้นำวิธีการ active learning มาใช้จัดการเรียนการสอน

“ ผมขอยืนยันว่าบอร์ด กพฐ.ยังไม่มีการสั่งยกเลิกหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดฯ ( ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560 )และยังไม่ให้ใช้หลักสูตรใหม่เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ในการนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปทดลองใช้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรม แล้วนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขได้หลักสูตรและแนวทางการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ก็จะมีการพิจารณาในรายละเอียดเรื่องการประกาศว่าจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในระดับชั้นใด ในปีการศึกษาอะไร และนำไปใช้อย่างไร ใช้แบบไหนต่อไป สำหรับข้อห่วงใยต่างๆ ที่มีเสียงสะท้อนเข้ามา คณะกรรมการ กพฐ.จะมีการหารือกันต่อไป ” ศ.บัณฑิต กล่าว.