นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) เปิดเผยว่า ภาคบริการเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศ ทั้งในแง่ของรายได้และการจ้างงาน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ในปี 2564 ภาคบริการมีมูลค่า 9.6 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของ GDP และมีการจ้างงานประมาณร้อยละ 52 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีต่างๆ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจบริการต้องปรับตัวจากธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional Services) ไปสู่ธุรกิจสมัยใหม่ (Modern Services) ซึ่งการจะพัฒนาภาคบริการไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็นธุรกิจบริการสมัยใหม่ จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบนิเวศ (ecosystem) ทั้งระบบ
ผอ. สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคบริการของไทยยังเผชิญความท้าทายที่สำคัญ โดยธุรกิจบริการส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในสาขาบริการแบบดั้งเดิม และการส่งออกบริการของไทยไม่กระจายตัวในสาขาต่างๆ มากนัก โดยไทยส่งออกบริการท่องเที่ยวเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ไทยส่งออกบริการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 73.7 ของมูลค่าการส่งออกบริการทั้งหมดของไทย แต่ลดเหลือร้อยละ 43.5 และ 19.7 ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ ซึ่งโควิด-19 เป็นข้อจำกัดในการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ทั้งนี้ สนค. ได้ศึกษาความต้องการนำเข้าบริการของโลก พบว่าโลกมีการนำเข้าบริการที่กระจายอยู่ในธุรกิจบริการสมัยใหม่หลายสาขา ในปี 2563 โลกนำเข้าบริการธุรกิจอื่นๆ (เช่น การวิจัยและพัฒนา บริการให้คำปรึกษาด้านวิชาชีพและการบริหารจัดการ และบริการด้านเทคนิค) ในสัดส่วนสูงสุด ที่ร้อยละ 28.2 ของมูลค่าการนำเข้าบริการของโลก รองลงมา คือ การขนส่ง (ร้อยละ 20.5) การท่องเที่ยว (ร้อยละ 11.6) บริการทรัพย์สินทางปัญญา (ร้อยละ 9.6) โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และข้อสนเทศ (ร้อยละ 8.6) การเงิน (ร้อยละ 5.9) ประกันภัย และบำเหน็จบำนาญ (ร้อยละ 4.1) และบริการส่วนบุคคล วัฒนธรรม และนันทนาการ (ร้อยละ 1.7) ตามลำดับ ดังนั้น
จะเห็นได้ว่าไทยยังมีโอกาสอีกมาก ในการส่งออกบริการสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจบริการสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
นอกจากนี้ ภาคบริการของไทยยังเผชิญความท้าทายอื่น ๆ ได้แก่ ประเทศไทยยังเปิดเสรีภาคบริการไม่เต็มที่ จึงขาดความหลากหลายในการแข่งขันที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมภาคบริการ และเป็นข้อจำกัดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยในปี 2564 ดัชนีข้อจำกัดด้านภาคการค้าบริการ (Services Trade Restrictiveness Index :STRI) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ของไทย พบว่า ไทยมีข้อจำกัดการค้าภาคบริการสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และกลุ่มประเทศ OECD ในเกือบทุกสาขา
ซึ่งสะท้อนว่าไทยมีข้อจำกัดในการเข้ามาลงทุนของภาคบริการต่างชาติมากกว่า จึงมีความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม ทั้งนี้ การปิดกั้นการลงทุนในสาขาบริการสมัยใหม่ซึ่งมีแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีมากกว่าสาขาดั้งเดิม จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคบริการของไทย
นอกจากนี้ ไทยขาดความพร้อมด้านทักษะแรงงาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต และภาคบริการไทยขาดสภาพแวดล้อม (Ecosystem) ที่เหมาะสม
ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา อาทิ การวิจัยและพัฒนาในธุรกิจบริการสมัยใหม่ การบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมทางนวัตกรรมบริการ และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญ เช่น กฎหมายกฎระเบียบ องค์กรกลางที่กำกับดูแล เทคโนโลยี เงินทุน มาตรการจูงใจทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี รวมถึงขาดการรวบรวม จัดเก็บ และบริหารข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนปัญหาการลอกเลียนแบบทรัพย์สินทางปัญญา และความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ส่งผลให้ต้องปรับโมเดลธุรกิจ และมีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งต้องอาศัยเงินทุน จึงเป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs)
สำหรับข้อเสนอแนะการพัฒนาภาคบริการของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นและเป็นธุรกิจบริการสมัยใหม่ นั้น
ระยะสั้น
(1) ประเทศไทยควรกระจายการส่งออกบริการ นอกเหนือจากการพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ควรพัฒนาภาคบริการอื่น ๆ เพื่อเป็นส่วนเสริมรายได้จากการท่องเที่ยวที่ชะลอลง ให้ประเทศไทยมีแหล่งรายได้จากบริการอื่น ๆ มากขึ้น เช่น การแพทย์และบริการสุขภาพ บริการโลจิสติกส์ และบริการดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นต้น
(2) สนับสนุนการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้กับธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชิงธุรกิจ และเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มศักยภาพ และดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรภายในพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกระแสใหม่ของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน
ระยะกลาง
(1) ผ่อนคลายมาตรการการกีดกันการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งในแง่ของการถือหุ้นของชาวต่างชาติ และส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ อาจเริ่มจากธุรกิจที่ไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพก่อน
(2) เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการศึกษา ผลิตบุคลากรให้เพียงพอ และตรงตามตลาดต้องการ รวมทั้งอาจจับคู่ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการศึกษา ส่งเสริมให้นักศึกษาที่มีความสามารถ (Talent) มีโอกาสฝึกงาน เตรียมความพร้อมสู่การทำงานจริง
(3) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการต่างประเทศ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ระยะยาว
(1)ปรับปรุงกฎระเบียบให้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคบริการ ทั้งด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิประโยชน์ทางภาษี กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ มาตรการส่งเสริมการลงทุน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ SMEs กับผู้ประกอบการรายใหญ่
(2)บูรณาการการทำงานของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการบริการผ่านกระบวนการและเครือข่าย เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะ เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consulting)ให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว (One-on-One) และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก
ผอ. สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาคบริการสมัยใหม่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของไทย(New Engines) ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดอุปสรรคภาคบริการและพัฒนาระบบนิเวศให้เหมาะสมกับการพัฒนาธุรกิจบริการสมัยใหม่ เพื่อให้ไทยพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ (Service-based Economy) และทำให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) อย่างแท้จริง
—————————————————–
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
29 เมษายน 2565