เมื่อวันพุธที่ 27 เมษายน 2565 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องเมย์แฟร์ บอลรูม เอบี ชั้น 11 โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยมี นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เป็นระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงการเดินทางจากพื้นที่ในเขตปริมณฑลสู่ใจกลางกรุงเทพฯ และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งมวลชนทางราง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ของรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของกระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชน
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงต้องหาแนวทางในการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และส่วนต่อขยายทั้ง 4 เส้น ทั้งการบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารสถานีกลางบางซื่อและสถานีในโครงข่ายรถไฟชานเมืองสายสีแดงตลอดแนวเส้นทาง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน โดยได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และได้จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง
งานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน หรือ Market Sounding ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดสัมมารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ส่วนงานสัมมนาในวันนี้ จะเป็นครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอสาระสำคัญของโครงการ มูลค่าการลงทุน ผลการศึกษาและวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจการเงิน แนวทางการร่วมลงทุน รวมถึงข้อมูลด้านการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความเห็นและข้อเสนอแนะมาประกอบใช้ในการดำเนินโครงการให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรก คือการให้บริการส่วนที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สำหรับระยะที่ 2 คือ การให้บริการรวมส่วนต่อขยาย 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ส่วนระยะที่ 3 คือ การให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เต็มรูปแบบ รวมถึงช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง โดยระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ยังสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งทางราง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบ ในลักษณะของ Multimodal Transport เพื่อยกระดับการเดินทาง และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน.
Facebook ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย (red arrow right)https://www.facebook.com/100064440019733/posts/361448416013156/?d=n
INSTAGRAM SRT OFFICIAL (red arrow right)https://www.instagram.com/p/Cc2bDZDL3bK/?igshid=YmMyMTA2M2Y=
Twitter SRT OFFICIAL @PR_SRT (red arrow right)https://twitter.com/pr_srt/status/1519256317684518913?s=21&t=K–K3EPZYR4IpAonz0lOTg