สร้างรากฐานการศึกษาสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน กระทรวงศึกษาธิการเผยรูปธรรมความสำเร็จ 6 ด้าน ของ “การขับเคลื่อนแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำงานเน้นการบูรณาการความร่วมมือทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว “MOE one team” เพื่อให้การศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมาที่เข้ามารับผิดชอบการทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ทำงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยหลักสำคัญคือ “การศึกษาถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าของประชาชน” หากสามารถจัดการเรียนการสอนได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ภายใต้การทำงานที่เป็น “MOE one team” เกิดการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของกระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปบ.จชต.) หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานแผนการทำงานร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการ ภาค 7 ยะลา มุ่งเน้นการปฏิบัติภารกิจในระดับพื้นที่ ผ่านการอำนวยการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาแบบร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการ อันจะส่งผลให้การทำงานเกิดคุณค่า เกิดประโยชน์สูงสุด
ผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในภารกิจหลัก 6 ด้าน ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จ ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การศึกษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง มีโครงการและกิจกรรมสำคัญ อาทิ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พร้อมปลูกต้นไม้ประจำพระองค์ “ต้นรวงผึ้ง”, กิจกรรมปลูกจิตสำนึกความเป็นชาติไทยในโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (To Be Number One), กิจกรรมประวัติศาสตร์ชาติไทยและบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทย, กิจกรรมพัฒนาทักษะทางสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมกระบวนการพัฒนาผู้นำ และกิจกรรมครอบครัวสุขสันต์สมานฉันท์สังคมไทย เป็นต้น
ด้านที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน ให้มีสมรรถนะในการแข่งขัน อาทิ การพัฒนาภาษาสู่ยุคอาเซียน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, ภาษามลายูกลาง, ภาษาจีน และภาษาพม่า แก่นักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาอาชีวศึกษา, การฝึกอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์ทั่วไปแก่ประชาชน, โครงการหลักสูตร 2 ปริญญาระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กับมหาวิทยาลัยมาลัง ประเทศอินโดนีเซีย, การฝึกอาชีพและจัดตั้งกลุ่มอาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เป็นต้น ด้านที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ อาทิ การอบรมหลักสูตรแกนกลางและการจัดการเรียนรู้ปฐมวัย รูปแบบ Active Learning แก่ครู, การอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้วรรณกรรมเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย, โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยผ่านกิจกรรมแข่งขันทักษะภาษาไทยให้แก่นักเรียนเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ โครงการส่งเสริมภาษาคู่การเรียนรู้สู่หมู่บ้านชายแดนใต้แก่ประชาชน, โครงการค่ายภาษาอังกฤษ English Camp เป็นต้น
ด้านที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา อาทิ การแก้ปัญหาเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา กลับเข้ามาเข้าสู่ระบบการศึกษาพร้อมจัดหาที่เรียน, จัดอบรมครูรับผิดชอบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน, จัดสรรทุนการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และผู้เรียนต่อ เป็นต้น ด้านที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ขับเคลื่อนกลยุทธ์กำหนดมาตรฐานสถานศึกษาน่าอยู่ น่าเรียน พร้อมพัฒนาสู่มาตรฐาน และยกย่องเชิดชูสถานศึกษาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน, จัดหลักสูตรวิทยากรแกนนำ หลักสูตรท้องถิ่นอุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopark), โครงการเรียนรู้ อนุรักษ์ พืชสมุนไพรชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น และ ด้านที่ 6 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษา อาทิ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการปฏิบัติตามแผนและมาตรการรักษาความปลอดภัยครูบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียน 1,133 แห่ง, การจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับพื้นที่บริการ, ศึกษาธิการส่วนหน้าเคลื่อนที่พบประชาชน, การพัฒนาต้นแบบการจัดการศึกษาท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง โดยใช้ตำบลเป็นฐาน เป็นต้น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวย้ำว่า “กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21” พร้อมน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ พระบรมราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ด้านการศึกษาที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง, มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม, มีงานทำ มีอาชีพ และเป็นพลเมืองดี เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดไป