กรมควบคุมโรค ห่วงประชาชนป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูร้อน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูร้อน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยงที่ต้อง เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก เป็นต้น กลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน แนะดูแลสุขภาพคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากอากาศร้อน วันที่ (8 เมษายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยด้วย 5 กลุ่มโรคที่มากับฤดูร้อน ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2.ผู้สูงอายุ 3.กลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงมีครรภ์ เด็กเล็ก เป็นต้น 4.กลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ตามที่กรมควบคุมโรค ออกประกาศ เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2562 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา โรคและภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูร้อน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.โรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากอากาศร้อนโดยตรง ได้แก่ การเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน โรคฮีทสโตรก เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน เช่น เล่นกีฬาหรือฝึกทหารโดยขาดการเตรียมตัวมาก่อน หรือผู้ใช้แรงงานกลางแดด เป็นต้น อาการของโรคนี้ คือ อ่อนเพลีย หน้ามืด หากมีอาการรุนแรงผู้ป่วยจะตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นลม ซึ่งในบางรายอาจถึงแก่ชีวิตได้

2.โรคและภัยสุขภาพที่เป็นผลจากอากาศร้อนแล้งและแดดจ้า ได้แก่ ผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือที่มีภูมิประเทศเป็นป่าเขา จึงเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าได้ง่าย ประกอบกับมีการเผาขยะต่างๆ และเผาไร่สวน เพื่อเตรียมที่ดินไว้สำหรับทำการเกษตร ดังนั้นปัญหาผลกระทบทางสุขภาพจากหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือจึงยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังดังกล่าว

3.โรคติดต่อที่พบมากขึ้นในฤดูร้อน ได้แก่ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว หนอนพยาธิฯ ซึ่งช่วงฤดูร้อนเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี หากได้รับเชื้อจะมีอาการ ปวดท้อง ถ่ายเหลว มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ อุจจาระอาจพบเยื่อมูกและมีเลือดปน ในบางรายมีอาการรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรคจึงขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว เช่น ข้าวกล่อง อาหารถุง ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ

4.โรคติดต่อที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นแมลงนำโรค และสามารถพบได้ทุกกลุ่มอายุ หากป่วยแล้วจะมีอาการ ไข้สูงโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขน ขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย 2) โรคพิษสุนัขบ้า สามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงหน้าร้อนนี้ อากาศร้อนจัด อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่าย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเอง และบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน โดยขอให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้ อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโหเพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบ จานข้าวหรืออาหารขณะสัตว์กำลังกิน อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย

5.ภัยสุขภาพในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ สาเหตุการจมน้ำ ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กจะชวนกันไปเล่นน้ำเพื่อคลายความร้อน โดยลำพัง โดยไม่บอกผู้ปกครองให้ทราบ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิต

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมเตรียมภารกิจในการดูแลประชาชน ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ 2.การควบคุมโรคในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ และ 3.การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน

ทั้งนี้ หากประชาชนในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เจ็บป่วยหรือมีอาการผิดปกติ อย่างชะล่าใจ ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เพราะในกลุ่มเสี่ยงถ้าเจ็บป่วยแล้วมักมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422