การรถไฟฯ ชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทการบุกรุกที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และพื้นที่บริเวณมักกะสัน กรุงเทพฯ โดยยึดหลักจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส เท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ
จากกรณีที่นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความอิสระ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการที่การรถไฟฯ ไม่สั่งการให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ขณะเดียวกันกลับเลือกฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านนับ 100 ราย ที่เข้าไปอยู่อาศัยในบริเวณที่ดินรถไฟฯ มักกะสัน กรุงเทพฯ นั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงข่าวชี้แจงการแก้ปัญหาข้อพิพาทการบุกรุกที่ดิน โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และผู้บริหารการรถไฟฯ เข้าร่วมชี้แจง โดยระบุว่า การรถไฟฯ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินของรถไฟทั่วประเทศอย่างจริงจัง บนพื้นฐานของความถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย มีความเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ และยึดหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรมอย่างเหมาะสมเสมอมา แต่ที่ผ่านมากลับมีการนำข้อพิพาทที่ดินเขากระโดงในบางประเด็นมากล่าวอ้าง จนสร้างความสับสนให้สังคมเข้าใจผิด และกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กร จึงจำเป็นขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมถึงการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ ในกรณีที่ดินเขากระโดง ถือเป็นเป็นปัญหาการมีเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนบนที่ดินรถไฟ ซึ่งในกรณีนี้มีการยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา ซึ่งต่อมา ป.ป.ช.ได้มีมติให้กรมที่ดิน เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ไม่ได้สั่งให้การรถไฟฯ ไปฟ้องประชาชน ประกอบกับเมื่อปี 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีที่ราษฎรฟ้องการรถไฟฯ ให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยศาลเชื่อข้อเท็จจริงตามแผนที่การรถไฟฯนำเสนอว่า พื้นที่เขากระโดงจำนวน 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของรถไฟ แต่คำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคดีนั้นๆ ไม่สามารถเอาคำพิพากษาไปบังคับกับที่ดิน 5,083 ไร่ได้
การรถไฟฯ จึงได้นำแนวทางคำพิพากษาดังกล่าว มาดำเนินการขอเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินนอกเหนือจากรายที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว โดยทำหนังสือถึงกรมที่ดินให้วินิจฉัยว่าการออกโฉนดเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ แต่ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด 90 วัน กรมที่ดินกลับไม่ได้พิจารณาตอบกลับมา การรถไฟฯ จึงได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง หมายเลขดำที่ 2494/2564 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 1 และอธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 2 ในฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าไม่ดำเนินการตามที่การรถไฟฯ ร้องขอ และไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของรถไฟ ซึ่งศาลปกครองกลางได้รับฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ขณะเดียวกันยังยื่นเรียกร้องค่าเสียหายเป็นวงเงินประมาณ 700 ล้านบาทกับกรมที่ดิน ซึ่งเป็นการประเมินจากรายได้ที่การรถไฟฯ ต้องสูญเสียไป (ไม่รวมดอกเบี้ย) จากการที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา
ปัจจุบัน ที่ดินที่การรถไฟฯ ได้ยื่นให้ศาลปกครองตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิมีทั้งหมด 5,083 ไร่ มีผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ประมาณ 900 ราย แบ่งเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 700 ราย ที่มีการครอบครอง (ท.ค.) จำนวน 19 ราย น.ส.3ก. จำนวน 7 ราย หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) จำนวน 1 ราย ทางสาธารณประโยชน์ จำนวน 53 แปลง และอื่นๆ ที่ไม่ปรากกฎเลขที่ดินในระวางแผนที่อีกจำนวน 129 แปลง ซึ่งการรถไฟฯ ยืนยันว่าพร้อมจะดำเนินการนำที่ดินทั้งหมดกลับมาเป็นทรัพย์สินของการรถไฟฯ แต่จะไม่ฟ้องร้องตรงต่อประชาชน โดยหลังจากนี้จะต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองให้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด
นายนิรุฒกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟ ฯ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ การบุกรุกที่ดินแบบไม่มีเอกสารสิทธิ์ และการเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยมีเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟ ซึ่งจะมีการดำเนินการแก้ไขที่แตกต่างกัน โดยปัจจุบันมีกรณีผู้บุกรุกเข้าครอบครองที่ดินรถไฟฯ โดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ทั่วประเทศ 18,822 ราย ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 1,538 ราย สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 911 ราย นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจังหวัดอื่นรวม 3,045 ราย และพื้นที่อื่นๆ 12,459 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ได้รวมถึงกรณีชาวบ้าน 100 ครัวเรือนที่เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณริมทางรถไฟมักกะสันโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อขอคืนพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแล้ว
ส่วนอีกกลุ่มกรณีผู้ถือเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนกับที่ดินรถไฟ โดยมีการออกเอกสารสิทธิที่ดินเป็นเอกสารราชการอย่างถูกต้อง และอาศัยอยู่โดยสุจริตจำนวน 1,137 ราย ประกอบด้วย พังงา-ท่านุ่น 20 ราย อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 15 ราย บ้านโพธิ์มูล จ.อุบลราชธานี 2 ราย เขากระโดงจ.บุรีรัมย์ 900 ราย และพื้นที่อื่นๆ 200 ราย ซึ่งในส่วนนี้การรถไฟฯ จะไม่ดำเนินการกับผู้ถือเอกสารสิทธิ์เหมือนกับกลุ่มผู้บุกรุก เพราะการรถไฟฯ มองว่าประชาชนที่ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการ และอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ยังเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินโดยสุจริต
นอกจากนี้ ในการดำเนินการแก้ปัญหาที่ดินของการรถไฟฯ ยังได้มีการตั้งคณะทำงานใน 3 ระดับขึ้นมาดูแล คือ 1.คณะทำงานภายในของการรถไฟฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจัดทำบัญชีรายชื่อ ชุมชุน และจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม 2.คณะทำงานในระดับกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พิจารณาให้ความช่วยเหลือในระดับนโยบาย 3. คณะกรรมการระดับประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนในที่ทำกิน ทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรี และระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
ท้ายนี้ขอย้ำว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินต่างๆ โดยยึดหลักจริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล เพื่อความถูกต้อง โปร่งใส ตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย และดำเนินการกับผู้บุกรุกทั่วประเทศด้วยความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ควบคู่กับการดูแลพิทักษ์ทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นสำคัญ
Facebook ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย (red arrow right)https://www.facebook.com/100064440019733/posts/351807620310569/?d=n
INSTAGRAM SRT OFFICIAL (red arrow right)https://www.instagram.com/p/CcQPGWAPQgh/?igshid=YmMyMTA2M2Y=
Twitter SRT OFFICIAL @PR_SRT (red arrow right)https://twitter.com/pr_srt/status/1513880827712708612?s=21&t=knx-FbmKdnCyGvt_ljtiHQ