ลงใต้ดินเพิ่ม! กฟน. เดินหน้าโครงการไฟฟ้าใต้ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

วันนี้ (4 เมษายน 2562) นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานงานประชุมชี้แจงโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ถนนจรัญสนิทวงศ์ (โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) โดยมีผู้แทนจากองค์กร และหน่วยงานภาคธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงรายละเอียดแผนดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง ณ โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพฯ

นายราเชนทร์ พฤทธิพงศ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามที่ กฟน. ได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล เร่งดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุด กฟน. จะดำเนินโครงการบนถนนจรัญสนิทวงศ์ (โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) ตั้งแต่บริเวณสะพานพระราม 7 – แยกท่าพระ รวมระยะทาง 11.4 กิโลเมตร มูลค่าสัญญาโครงการกว่า 2,200 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้จะช่วยพัฒนาเสถียรภาพ และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง และเป็นการเตรียมพร้อมรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจของหน่วยงานเอกชนในพื้นที่ในอนาคต รวมถึงช่วยเสริมสร้างทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยว ตลอดจนช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน พร้อมให้กรุงเทพมหานครเข้าสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน

ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ กล่าวอีกว่า ในด้านวิธีการก่อสร้างของโครงการนี้ได้ยกระดับการก่อสร้างทุกจุดตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งขั้นตอน วิธีการ และวัสดุอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานป้องกันอุบัติเหตุ ให้งานก่อสร้างมีความเรียบร้อยปลอดภัย และได้มีวิธีการก่อสร้าง แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.งานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าด้วยวิธีขุดเปิดบนทางเท้า (Open Cut) 2.งานก่อสร้างท่อด้วยวิธี HDD (Horizontal Directional Drilling) และ 3.งานก่อสร้างด้วยวิธีดันท่อ (Pipe Jacking) โดย กฟน. จะดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 05.00 น. ของวันถัดไปเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อการจราจร แต่อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ กฟน. จะชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ แผนงานก่อสร้างด้านโยธา และระบบไฟฟ้า รวมถึงการจัดการจราจรในบริเวณก่อสร้าง นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น พร้อมให้ข้อมูลสำคัญ เพื่อที่ กฟน. จะได้นำมาพิจารณาปรับปรุงแผนงานให้มีความเหมาะสม และส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ กฟน. สามารถวางแผนการดำเนินโครงการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแนวรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง กฟน. ได้บูรณาการความร่วมมือกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อร่วมกันก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้า และการวางระบบรถไฟฟ้าในคราวเดียวกันเพื่อลดผลกระทบด้านการก่อสร้าง ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ประหยัดงบประมาณ และทำให้โครงการสำเร็จได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย

ข้อมูลภาพรวมการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ในปี 2562 ประกอบด้วย

1) โครงการที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่
– โครงการถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง ถึง แยกเทวกรรม) และถนนเพชรบุรี (แยกยมราช ถึง แยกอุรุพงษ์) รวมระยะทาง 0.3 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เดือนเมษายน
– โครงการถนนนานา (ช่วงถนนสุขุมวิท ถึง คลองแสนแสบ) รวมระยะทาง 0.75 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เดือนเมษายน
– โครงการถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ เดือนธันวาคม
– โครงการถนนวิทยุ รวมระยะทาง 2.1 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ ในเดือนธันวาคม

2) โครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้าง 54.1 กิโลเมตร อาทิ โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการถนนวิทยุ

3) โครงการที่จะลงนามสัญญาก่อสร้างในปี 2562 รวมประมาณ 114.9 กิโลเมตร มูลค่าของสัญญากว่า 20,000 ล้านบาท อาทิ โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ และโครงการร่วมกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดของ กฟน. ได้ดำเนินการรวมระยะทาง 214.6 กิโลเมตร โดยมีโครงการที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 45.6 กิโลเมตร โครงการที่อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้าง 54.1 กิโลเมตร และโครงการที่อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้าง 114.9 กิโลเมตร