วันที่ ๘ เมษายน 2565 เวลา 13.00 น. กรมบังคับคดีและ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกความตกลงการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี นายปวเรศร์ เชษฐพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงนาม ซึ่งมีนางสาวยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล รองอธิบดีกรมบังคับคดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมบังคับคดี และคณะผู้บริหารบริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกความตกลงดังกล่าว ณ ห้องประชุมคชสาร ๒ ชั้น ๓ อาคารกรมบังคับคดี
นางทัศนีย์ เปาอินทร์ อธิบดีกรมบังคับคดี เผยว่า กรมบังคับคดีได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาการทำงานร่วมกันโดยการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมทรัพย์สินของ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบรรดาเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย และประชาชนทั่วไป จากการจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ในการรับส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดการใช้เอกสาร อันเป็นการบูรณาการและสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน และการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ในภาพรวม
อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของกรมบังคับคดี ในการเป็นศูนย์ข้อมูลกลางเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ (Debtor Data Center) ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย และสอดคล้องกับแนวคิด Good Communication & Collaboration หรือการสื่อสารเชิงรุก สร้างความรับรู้ และบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมทั้ง Good service ยกระดับคุณภาพการให้บริการประชาชนโดยการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ e–Service เพื่อไปสู่ Great Digital Organization หรือการพัฒนาสู่ความเป็นองค์กรดิจิทัล โดยมุ่งเน้นพัฒนาองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูง ทันสมัย เปิดกว้างและเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแนวนโยบาย “ Change Better To Be LED 5G” ของกรมบังคับคดี ในการนำเรื่องที่ดำเนินการอยู่แล้วมาปรับใช้ให้ดีขึ้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นับได้ว่าบริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารลำดับแรก ๆ ที่มีการทำบันทึกความตกลงในการรับและส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะของการตอบกลับทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน ซึ่งความร่วมมือเช่นนี้จะส่งผลให้กรมบังคับคดีสามารถยกระดับศักยภาพกระบวนการบังคับคดีและการให้บริการอย่างเหมาะสมสามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
กรมบังคับคดี โทรศัพท์หมายเลข ๐ ๒๘๘๑ ๔๙๙๙ หรือ สายด่วนกรมบังคับคดี ๑๑๑๑ กด ๗๙ เว็บไซต์ www.led.go.th