ปภ.รายงานมีจังหวัดได้รับผลกระทบจากวาตภัย 24 จังหวัด ประสานจังหวัดเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอิทธิพลความกดอากาศต่ำเนื่อง จากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 4 เมษายน 2562 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 24 จังหวัด รวม 67 อำเภอ 126 ตำบล 298 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,370 หลัง ผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน พร้อมประสานพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รับมือ  ฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในระยะนี้

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 4 เมษายน 2562 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 24 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ กระบี่ ศรีสะเกษ สระแก้ว เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู พิษณุโลก เชียงใหม่ น่าน หนองคาย ลำปาง นครพนม มหาสารคาม นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี พิจิตร กาฬสินธุ์ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น และอุทัยธานี รวม 67 อำเภอ 126 ตำบล 298 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,370 หลัง ผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดหน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือน เป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม อีกทั้งจ่ายเงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพตามระเบียบและหลักเกณฑ์ ที่กำหนดแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยตอนบน จะมีพายุฤดูร้อนลดลง และอุณหภูมิจะสูงขึ้น แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัด ชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ทั้งนี้ ขอฝากเตือนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ส่วนเกษตรกร ให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป