ที่ปรึกษาปลัด มท.นำทีม Change for Good ลุยเชียงของ เตรียมการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดล ศก.ใหม่

วันที่ 4 เมษายน 2565 รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำทีม Change for Good และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ติดตาม ประเมินศักยภาพพื้นที่เตรียมการ การขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) อำเภอเชียงของ โดยมี นายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ นายภาสกร งามสมบัติ พัฒนาการอำเภอเชียงของ นายเสถียร สายสูง นายกเทศมนตรีตำบลบุญเรือง ร่วมด้วยส่วนราชการ ผู้นำหมู่บ้าน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลการเตรียมการพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

จากที่ กระทรวงมหาดไทย เปิดตัวโครงการการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) เป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล ให้ประชาชนทุกภาคส่วนพร้อมรับมือภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง โดยถอดบทเรียนการปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ สร้างความเข้มแข็งมั่นคง สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งอำเภอเชียงของ ได้ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยได้คัดเลือกพื้นที่ ที่เหมาะสมและเสนอโครงการ กิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าว 2 พื้นที่นำร่องโครงการ ได้แก่

– โครงการศูนย์ส่งเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก และพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เชื่อมร้อยกับโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้อนุรักษ์ดินน้ำป่า เฉลิมพระเกียรติวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า ตามศาสตร์พระราชา และส่งเสริมพัฒนาอาชีพ สร้างสุขให้แก่ประชาชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างกลไกที่สอดรับกับการสร้างสังคมที่เกื้อกูล ด้วยหลักการ “บวร” สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ในทุกมิติ โดยมีวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับทุกภาคีเครือข่าย เป็นต้นแบบการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อย่างน้อย 2 รูปแบบการบูรณาการ ได้แก่

1) ศรัทธาสร้างปัญญา โดยเป็นศูนย์เรียนรู้และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Philosophy Propelling and Learning Center : SPLC) รวมไปถึงการจัดแสดงภูมิปัญญาชุมชน นวัตกรรมท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ OTOP ตั้งอยู่ภายในพื้นที่บริเวณวัด หรือพื้นที่ไข่แดง ขนาด 15 ไร่

2) พัฒนาอย่างยั่งยืน โดยขยายผลแนวทางการพัฒนา ไปยังประชาชนในพื้นที่ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งตัวเองได้ ยกระดับพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (Household Lab Model for quality of life: HLM) และสัมมาชีพชุมชน ต่อยอดเป็นพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้การสร้างงาน สร้างรายได้ โดยกำหนดจุดตั้งต้น ณ ครัวเรือนต้นแบบ “โคก หนอง นา พช.” ขนาด 3 ไร่ ของนายสุรเดช หงส์คำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านห้วยเม็ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ขยายผลโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้อนุรักษ์ดินน้ำป่าฯ (พื้นที่โดยรอบ ครอบคลุม 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลเวียง 14 หมู่บ้าน และตำบลริมโขง 10 หมู่บ้าน)

โดยแนวทางการดำเนินกิจกรรมข้างต้นถอดบทเรียนตามหลักการความสำเร็จของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย และเกษตรเชิงวิถีพุทธ เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

– โครงการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ณ ที่ราชพัสดุ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเชียงของ และเทศบาลตำบลเวียง ขนาด 7 ไร่ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่อำเภอเชียงของ ที่ได้ระดมสรรพกำลัง แนวทางการพัฒนาของหลากหลายหน่วยงานภาคีในพื้นที่ นำต้นแบบผลสำเร็จมาสู่การสร้างศูนย์การเรียนรู้เชิงประจักษ์ และฝึกปฏิบัติ อาทิ ศูนย์พัฒนาอาชีพวิถีชุมชนแบบบูรณาการ ,ศูนย์พัฒนาปศุสัตว์วิถีชุมชนแบบบูรณาการ ,ศูนย์พัฒนาการเกษตรวิถีชุมชนแบบบูรณาการ ,ศูนย์พัฒนาการประมงวิถีชุมชนแบบบูรณาการ ,ศูนย์เรียนรู้ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง พืชสมุนไพรและไม้ผล เป็นต้น

และขยายผลการดำเนินโครงการ 7 ตำบล 7 ศูนย์การเรียนรู้ : 1 หมู่บ้าน 1 ฐานการผลิต ต้นแบบการแก้จน และเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต้นแบบและขยายผล ต่อยอดเชิงบูรณาการพื้นที่ต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ พัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าประมงแบบครบวงจร ขับเคลื่อนแนวทางเขตเศรษฐกิจพอเพียงด้านปศุสัตว์ โดยกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุดลำดับแรก คือ กลุ่มผู้ประสบปัญหาความยากจน กลุ่มเปราะบาง 5 มิติ ตามระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ Thai People Map and Analytics Platform (TPMAP) ได้หลุดพ้นจากภาวะยากลำบาก

โดยการลงพื้นที่ในวันนี้ นอกจาก 2 พื้นที่ ที่ได้เสนอโครงการ/กิจกรรมขับเคลื่อนไปก่อนแล้วข้างต้น พื้นที่ตำบลบุญเรือง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ส่งสัญญาณขานรับแนวทางการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) ด้วยการเป็นพื้นที่ต้นแบบความสำเร็จการสนับสนุนการฟื้นฟู”ป่าเสื่อมโทรม” ให้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจโดยการสนับสนุนการปลูกต้นไผ่ซางหม่นในพื้นที่ตำบลบุญเรือง โดย นำร่องในพื้นที่บ้านบ้านต้นปล้องใต้ หมู่ที่ 8 ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน (2565) ขยายเนื้อที่ป่าชุมชนกว่า 1,000 ไร่ อีกทั้งตำบลบุญเรือง ยังมีการดูแลรักษาป่าชุ่มน้ำ (wetlands) เนื้อที่กว่า 3,706 ไร่ มาอย่างยาวนาน โดยแบ่งพื้นที่ดูแลร่วมกัน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบุญเรืองใต้ ,บุญเรืองเหนือ ,บ้านภูแกง ,บ้านต้นปล้อง ,บ้านต้นปล้องใต้ เป็นความร่วมมือของชุมชนในการอนุรักษ์ป่าแต่ครั้งในอดีตให้คงความเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชน

ซึ่งทางตำบลเห็นถึงศักยภาพที่จะยังผลประโยชน์ให้เกิดกับประชาชนได้อย่างมหาศาล อย่างไรก็ดี การนำเสนอพื้นที่ทั้ง 3 จุด ของอำเภอเชียงของ ในครั้งนี้ จะได้เข้าสู่การศึกษา ประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อการดำเนินโครงการสัมฤทธิผล คือ การพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์สู่การปฏิบัติ แก้ปัญหาความยากจน และฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างได้ผลต่อไป.

ภาพ/ข่าว CDD Chiangkhong