ศปถ. หารือข้อเสนอเชิงนโยบายการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมกำหนด “วันถนนปลอดภัยแห่งชาติ” เพื่อสร้างจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนในสังคมไทย

วันที่ 31 มี.ค. 65 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พลเอก อนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่  1/2565 โดยมี นายนิพนธ์  บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิรัตน์  พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายบุญธรรม  เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข สำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมฯ รวมถึงได้มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังทุกจังหวัด เพื่อพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ใน 3 ประเด็กหลัก ได้แก่ การเพิ่มศักยภาพกลไกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน และการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อีกทั้งยังได้มีการหารือตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เรื่อง การกำหนดวันถนนปลอดภัยแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยจนเกิดผลเป็นรูปธรรมในสังคมไทย

พลเอก อนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า การประชุมฯ ในวันนี้ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้พิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อคณะอนุกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การเพิ่มศักยภาพกลไกการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนให้กับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ โดยกำหนดให้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข ด้วยการเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง พร้อมกำหนดกลไกการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานทุกระดับปีละ 2 ครั้ง โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบในการจัดเก็บข้อมูลตามแนวทางที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกำหนด

2. การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ อาทิ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การตัดหน้ากระชั้นชิด การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการสร้างความตระหนักและเสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ส่วนด้านยานพาหนะ ผู้ขับขี่ต้องตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย สำหรับด้านถนนและสภาพแวดล้อม ดำเนินการปรับปรงุสภาพแวดล้อมทางกายภาพและวิศวกรรมจราจรให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยง จุดอันตราย และจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

3. การสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม อาสาสมัคร และประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่าย เฝ้าระวัง ป้องกัน และร่วมกันตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ยังได้ร่วมพิจารณาหารือข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 เกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เรื่อง การกำหนดวันถนนปลอดภัยแห่งชาติ ซึ่งในที่ประชุมฯ โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ไปศึกษารายละเอียด ความเป็นไปได้ และความเหมาะสมในการดำเนินการ หลังจากนั้น จะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความปลอดภัยทางถนนต่อไป

“สำหรับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ทางศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดได้เริ่มขับเคลื่อนมาตรการสร้างความปลอดภัยทางถนน 5 มาตรการที่กำหนดไว้ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเน้นการลดพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ มาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2565 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้บูรณาการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร่วมกัน โดยได้มีการวางแผนงานเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางของพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวกและถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย” พลเอก อนุพงษ์ กล่าว

นายนิพนธ์  บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ จำเป็นที่จะต้องอาศัยกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรส่วนท้องถิ่น บูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ผ่านกลไกของด่านครอบครัว ด่านชุมชน ด่านโรงเรียน เพื่อเฝ้าระวังและป้องปรามบุคคลในพื้นที่ไม่ให้มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายร่วมกันในการสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย 100%” รวมถึงยังเป็นการลดผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง

นายนิรัตน์  พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน อำนวยความสะดวกการจราจร ปฏิบัติหน้าที่ดูแลให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกและปลอดภัย ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน //////////