“รมว.วราวุธ” เปิดเวที ปธส.รุ่น 9 ระดมผู้นำยุคใหม่ ร่วมแก้ไข Climate Change

วันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส. ) เป็นประธานพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 (ปธส. 9) พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “BCG Model and Decoupling การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่” โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหารฯ และผู้เข้ารับการอบรม รวม 62 คน เข้าร่วมพิธี ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้กล่าวถึง Decoupling ว่า เป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแบบที่เคยเป็นมา เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งเป็นการแยกองค์ประกอบของการพัฒนา มิติด้านเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ต้องแยกออกจากกันให้ได้ เพราะทุกการดำเนินธุรกิจล้วนแล้วส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องหาวิธีในการจัดการ ทั้งนี้ Decoupling แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่

1) Absolute decoupling กล่าวคือ ไม่ว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจไปมากเพียงใดหรือมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น แต่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่เกิดขึ้น

2) Relative decoupling คือ เมื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปเรื่อย ๆ หรือมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังคงมีอยู่ แต่เกิดขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า

ดังนั้น การตั้งเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ Absolute decoupling จึงเป็นเป้าหมายที่หลายประเทศต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่ง Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้ และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นยุค Green Gold ที่ให้ความสำคัญกับ Carbon Credit มากขึ้น

ทั้งนี้ รมว.ทส. ได้เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน และควรแทรกซึมอยู่ในทุกนโยบายของประเทศ โดยหวังว่าผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมไปบูรณาการเข้ากับนโยบาย วิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร ตลอดจนขยายผลไปยังเครือข่ายต่าง ๆ ขององค์กร สู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป

สำหรับ หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหารระดับสูง (ปธส.) รุ่นที่ 9เป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และเอกชน รวม 62 คน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้สำเร็จการศึกษาอบรมให้เป็นนักบริหารยุคใหม่ที่มีหัวใจสีเขียว เป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมและบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาล เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยมีระยะเวลาการศึกษาอบรม รวม 182 ชั่วโมง แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาที่ 1 หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสำหรับผู้บริหาร กลุ่มวิชาที่ 2 กระแสโลกและแนวโน้มด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิชาที่ 3 เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิชาที่ 4 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มวิชาที่ 5 การเสริมสร้างประสบการณ์เชิงประจักษ์