นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมพิธีประกาศ “MISSION 2023” ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมพิธีประกาศ “MISSION 2023” ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ด เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมี 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานพันธมิตร 25 หน่วยงาน ร่วมขับเคลื่อนให้สำเร็จ ทั้งด้านการปรับปรุงมาตรฐานด้านการก่อสร้างของหน่วยงาน การปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการใช้งาน ด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจ และด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์
ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (UN Climate Change Conference of the Parties: COP 26) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในการยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย เป็นร้อยละ 40 พร้อมมุ่งเน้นสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2608 จากนโยบายดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยพิจารณาถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 และตามแผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2573 (Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 – 2030 : NDC)
โดยกระทรวงคมนาคมมีส่วนร่วมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาคมนาคมขนส่ง (Transport) กระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมที่เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของคน และการขนส่งสินค้าให้มาใช้ระบบราง หรือรถไฟมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางรางหรือรถไฟจะช่วยให้ประเทศไทยลดการใช้เชื้อเพลิงลง ทำให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกระทรวงคมนาคมได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาคมนาคมขนส่ง ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานนนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) กระทรวงคมนาคมส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดในการผลิตปูนซีเมนต์ หรือปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก จัดเป็นมาตรการหนึ่งที่กระทรวงคมนาคมให้การสนับสนุนอยู่ในปัจจุบัน
กระทรวงคมนาคมจึงมีความยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมขับเคลื่อนและปรับปรุงมาใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2594-2556 และมีคุณสมบัติตามมาตรฐาน ASTM C1157 ของประเทศสหรัฐอเมริกา และในต่างประเทศแถบยุโรปมีการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยได้นำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคคมนาคมขนส่ง มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย “MISSION 2023” ในการลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2566 รวมถึงสนองตอบต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยให้ประเทศไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน