ผู้ว่าฯอยุธยา ประธานการประชุมการ แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำให้กับเกษตรกรพื้นที่ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหัน

วันที่ 29 มีนาคม 2565 เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ (นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการน้ำด้านการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรพื้นที่ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายประมาณ สว่างญาติ สมาชิกวุฒิสภา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร้อยตำรวจตรีหญิงสายสุนี ยมานันท์ นายอำเภอบางปะหัน นายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา นางสุชานันท์ ศุภราช พลังงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมประชุมหารือ

สำหรับการประชุมหารือในวันนี้ สืบเนื่องจากการประชุมลงพื้นที่จัดโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยนายประมาณ สว่างญาติ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นตัวแทนประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหัน ที่ไม่สามารถทำนาได้มา 3 ปีแล้วเนื่องจากน้ำไม่เพียงพอในการทำนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สั่งการอำเภอประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรทำนาในพื้นที่ตำบลหันสัง อำเภอบางปะหัน ในทันที

โดยนายวีระชัย นาคมาศ (นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า วันนี้ ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมเรื่องที่ท่าน สว.พบประชาชน ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการแจ้งกับทางจังหวัดฯว่า ตำบลหันสังไม่ได้ทำนามา 3 ปีแล้ว และมีแปลงใหญ่อยู่ในนั้นด้วย จึงได้ให้ท่านนายอำเภอเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นชลประทานจังหวัด นายกอบจ.ท้องถิ่น หรือท้องที่ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้ทำนา ปรากฏว่า มาหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไข ซึ่งก็ได้ทราบว่าคำว่าไม่ได้ทำนามา 3 ปี คือการไม่ได้ทำนาในช่วงฤดูแล้ง เพราะประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งมาตลอด โดยเฉพาะ 3 ปีหลังมานี้ น้ำต้นทุนของชลประทานที่ปล่อยมาจากเขื่อนเจ้าพระยา ก็ใช้อยู่ 4 ประเภท คือการรักษาระบบนิเวศ การทำสวน การอุปโภคบริโภค และด้านอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้พูดถึงการใช้ในด้านการทำนาเลย วันนี้จึงได้มาทำการพูดคุยและตกลงกันว่า ก็เป็นไปตามนั้นที่ไม่ได้มีการทำนาในฤดูแล้ง ส่วนในฤดูทำนาปกติก็อาจจะมีการเหลื่อมปี ไปบ้าง เพราะต้องรอน้ำฝน

ซึ่งวันนี้เลยมาทำการแก้ไข 2 เรื่องด้วยกัน คือ การแก้ไขระยะสั้น โดยให้ทาง นายก อบต. อำเภอ และ อบจ. ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำการดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำในพื้นที่โดยการใช้น้ำมันของ อบต. เอง หากไม่เพียงพอสามารถขอเพิ่มเติมได้จาก นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว ได้มีการมอบหมายให้ชลประทาน อำเภอมหาราช ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ร่วมกับ อบต. และทางอำเภอบางปะหัน ให้มีการออกแบบระบบส่งน้ำ หรือระบบกระจายน้ำ เนื่องจากชลประทานอำเภอมหาราชเป็นเจ้าของพื้นที่ การจัดการทุกอย่างจึงเป็นความรับผิดชอบของชลประทานอำเภอมหาราช เพียงแต่ว่าจะมีการแบ่งหน้าที่ อย่างเช่น จุดนี้ให้อำเภอมหาราชรับผิดชอบโดยของบประมาณ กรมชลประทาน

ในส่วนจุดที่นอกเหนือจากนี้ ให้ อบต. รับผิดชอบโดยใช้งบประมาณ อบต. ให้มีการพูดคุยกัน โดยให้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบและการอนุญาตของชลประทานอำเภอมหาราชเพื่อให้พื้นที่ 1,000 กว่าไร่ สามารถทำนาได้ตลอด โดยเฉพาะแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นนโยบายของทางรัฐบาล ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยและตกลงได้เป็นที่เข้าใจตรงกันในเรื่องของการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้อีกด้วย

ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์: https://ayutthaya.prd.go.th/

IG : https://www.instagram.com/prd.ayutthaya/