นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศ ครั้งที่ 1/2565

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาสมรรถนะช่องทางเข้าออกประเทศ ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 โดยมีนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร กรมควบคุมโรค และอื่น ๆ เป็นผู้แทนในการประชุม

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความก้าวหน้าและผลการปฏิบัติงานในการพัฒนาช่องทางเข้าออกประเทศ โดยเฉพาะช่องทางเข้าออกที่สำคัญ 18 แห่ง ทั้งช่องทางทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าเรือกรุงเทพฯ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน พรมแดนสะพานมิตรภาพ 2 (เชียงของ) พรมแดนแม่สาย เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ที่ต้องการให้ทุกประเทศมีสมรรถนะหลัก (Core Capacities) ในการป้องกัน ตรวจจับ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concerns หรือ PHEIC) ที่เกิดจากเชื้อโรคและภัยสุขภาพ 5 ด้าน ได้แก่

1. โรคติดเชื้อ

2. โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน

3. อาหารปลอดภัย

4. สารเคมี

5. กัมมันตรังสีและนิวเคลียร์

และเพื่อพิจารณาผลการประเมินตนเองในสมรรถนะของช่องทางเข้าออกที่ถูกกำหนดให้ต้องพัฒนาสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอองค์การอนามัยโลกต่อไป

ทั้งนี้ ช่องทางเข้าออกประเทศ ถือเป็นด่านแรกในการคัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าประเทศ การเฝ้าระวัง ป้องกัน ตรวจจับ ตอบโต้เหตุการณ์ที่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ณ ช่องทางเข้าออกประเทศจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ละหน่วยงานจำเป็นต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้สามารถตรวจจับและตอบโต้เหตุการณ์ด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้น ณ ช่องทางเข้าออกประเทศได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งมั่นจะพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบ แนวทางและมาตรการด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งคนโดยสารในการเดินทางระหว่างประเทศ และต่อไปในอนาคต อาจมีการพัฒนาช่องทางเข้าออกประเทศให้สามารถตรวจคนโดยสาร พร้อมทั้งตรวจจับสิ่งปนเปื้อนในผักผลไม้และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อยกระดับคุณภาพของสินค้าและการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้วางเป้าหมายว่าจะเพิ่มช่องทางเข้าออกประเทศเพื่อพัฒนาสมรรถนะ จากเดิม 18 ช่องทางเป็น 20 ช่องทาง โดยเพิ่มช่องทางเข้าออกประเทศท่าอากาศยานดอนเมือง และช่องทางเข้าออกประเทศสถานีรถไฟหนองคาย ให้เป็นช่องทางเข้าออกประเทศที่กำหนดด้วย เนื่องจากช่องทางทั้งสองแห่งมีประสิทธิภาพเพียงพอในการเป็นช่องทางที่กำหนดสำหรับรองรับการดูแลสุขภาพผู้เดินทางและสินค้าได้ในอนาคตด้วย โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำ Action Plan เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการประเมินขององค์การอนามัยโลกที่มีกำหนดจะมาประเมินประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 18 – 22 กรกฎาคม 2565 นี้ด้วย