ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๓/๒๕๖๕

วันจันทร์ที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุม คคบ. ครั้งที่ ๓/๒๕๖๕โดยเป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์

จากการประชุม ได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๕ เรื่อง  (ห้องชุดคอนโดมิเนียม ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินจัดสรร) ธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน  ๔ เรื่อง (ผิดนัดและส่งมอบสินค้าชำรุด ซื้อคอร์สเสริมความงาม ซื้อแมวผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กแล้วไม่ได้รับ ว่าจ้างพนักงานดูแลผู้สูงอายุ) รายละเอียดดังนี้

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์  จำนวน ๕ เรื่อง

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ได้ชำระเงินไปแล้ว จำนวน ๖๒๕,๐๐๐ บาท ต่อมาได้ยกเลิกสัญญา เนื่องจากบริษัทฯ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ประกอบกับผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด โดยบริษัทฯ ตกลงคืนเงินให้ ๕๘๔,๓๕๐ บาท และกำหนดผ่อนชำระ จำนวน ๘ งวด แต่ปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่ได้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภคตามบันทึกข้อตกลงแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ไม่ได้คืนเงินตามบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ๕๘๔,๓๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมบ้าน ในราคา ๒๔,๕๐๐,๐๐๐ บาทกับบริษัทแห่งหนึ่งในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ต่อมาทราบว่า โครงการฯ ดังกล่าวอยู่ในแนวเวนคืนที่ดินจึงมีความประสงค์ขอบอกเลิกสัญญา ซึ่งสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ตรวจสอบพบว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในโครงการหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยบ้านในโครงการอยู่ในแนวเวนคืนที่ดิน จำนวน ๖ หลัง และหากมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน จะส่งผลกระทบต่อบ้านของผู้บริโภคที่อยู่ในแนวเวนคืนที่ดินบางส่วน  โดยบริษัทไม่แจ้งเรื่องการเวนคืนที่ดินให้ผู้บริโภคทราบก่อนจะทำสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้าน จึงเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องที่ดินและบ้านที่ขาย และเป็นการไม่ได้ให้คำพรรณนาที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าแก่ผู้บริโภคที่จะมีอิสระในการตัดสินใจเข้าทำสัญญาซื้อบ้านและที่ดิน ทำให้สัญญาขายที่ดินระหว่างผู้บริโภคกับบริษัทฯ ตกเป็นโมฆียะ

แต่เริ่มแรก ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องคืนเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมทั้งรายการต่าง ๆ ให้กับผู้บริโภค  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นเงิน ๒๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท และชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ เป็นเงิน ๑๖,๕๗๔,๕๒๔ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๑,๐๗๔,๕๒๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับบริษัทแห่งหนึ่งในโครงการ ต่อมากำแพงของหมู่บ้านฯ ได้มีการทรุดตัวและเอียง ทำให้บ้านของผู้บริโภคทรุดตัว โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ยังเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขครั้งดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้กำแพงของหมู่บ้านฯ ทรุดตัวหนักขึ้น และทำให้มีรอยแตกร้าวภายนอกและภายในของบ้าน และกำแพงดังกล่าวมีลักษณะเอนตัวซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านได้ โดยปัจจุบันยังไม่มีการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้าน ดังนั้น บริษัทฯ ผู้จัดสรรที่ดินจึงยังไม่พ้นจากหน้าที่ในการดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภค  เมื่อบริษัทฯ ได้ตกลงจะทำการซ่อมแซมรั้วกำแพง แต่รั้วกำแพงยังคงมีปัญหา ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นความรับผิดชอบของบริษัทฯ เมื่อบริษัทฯ ไม่ซ่อมแซมรั้วกำแพงตามหน้าที่ในการดูแล จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค  โดยผู้บริโภคได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกประเมินราคาซ่อมแซมรั้วกำแพงดังกล่าว เป็นเงิน ๕๔๓,๙๔๕.๐๑ บาท บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้ซ่อมแซมแก้ไขรั้วกำแพงให้แก่ผู้บริโภค หากไม่ดำเนินการให้ชดใช้ค่าเสียหายแทนการซ่อมแซม จำนวน ๕๔๓,๙๔๕.๐๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร (มีสิ่งปลูกสร้าง) กับบริษัทแห่งหนึ่ง จำนวน ๑ แปลง ราคา ๗,๔๙๐,๐๐๐ บาท ได้ชำระเงินจอง จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่ชำระเงินไปแล้วทั้งสิ้น ๒๘๐,๐๐๐ บาท แต่ปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคตามสัญญา และผู้บริโภคไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งนัดตรวจนัดโอนกรรมสิทธิ์จากบริษัทฯ และบริษัทฯ มีการยอมรับด้วยวาจาว่ามิได้มีหนังสือนัดตรวจหรือนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจัดสรรฯ ไปยังผู้บริโภคแต่เป็นการแจ้งทางโทรศัพท์ ดังนั้น สัญญาดังกล่าวยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย เมื่อบริษัทฯไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจัดสรร บริษัทฯ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาตามบันทึกข้อเท็จจริง บริษัทฯ จึงต้องคืนเงินที่ผู้บริโภคชำระมาแล้วทั้งหมด แต่บริษัทฯ พิจารณาคืนเงินให้เพียง จำนวน ๑๔๐,๐๐๐ บาท  การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๒๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับผู้บริโภค

กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๑๐,๗๓๒,๐๐๐ บาท โดยชำระเงินจอง ๗๐,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๔๕๐,๐๐๐ บาท และเงินดาวน์ ๑,๒๘๘,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๘๐๘,๐๐๐ บาท กรณีดังกล่าวเห็นว่าผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด โดยสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเป็นสัญญาต่างตอบแทน บริษัทฯ มีหน้าที่ก่อสร้างห้องชุด

ให้แล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้บริโภคและมีสิทธิได้รับเงินค่าห้องชุดจากผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคมีหน้าที่ชำระเงินให้ครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญา ต่อมาผู้บริโภคประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า – ๒๐๑๙ ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จึงไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวได้ จึงมีความประสงค์ขอให้บริษัทฯ คืนเงินจำนวน ๑,๘๐๘,๐๐๐ บาท เมื่อพิจารณาเงินจอง เงินทำสัญญา ซึ่งผู้บริโภคได้ส่งมอบแก่บริษัทฯ ในขณะทำสัญญาถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันไว้เมื่อเข้าทำสัญญา ดังนั้น เงินจำนวน ๕๒๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นเงินมัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้บริโภคเป็นฝ่ายผิดสัญญา บริษัทฯ จึงมีสิทธิริบเงินในส่วนนี้ได้ส่วนเงินดาวน์เป็นการชำระราคาบางส่วน มิใช่มัดจำและเบี้ยปรับ บริษัทฯ ไม่มีสิทธิริบจึงต้องคืนเงินดาวน์ให้แก่ผู้บริโภค  เมื่อบริษัทฯ ปฏิเสธการคืนเงิน การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคมติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทเพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน ,๒๘๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๔ เรื่อง

กรณีผู้บริโภคได้สั่งทำโมเดล จำนวน ๔ ตัว กับผู้ขาย ต่อมาผู้ขายผิดนัดและเมื่อได้รับสินค้าแล้วปรากฏว่าสินค้ามีสภาพชำรุด ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เรียบร้อยไม่ตรงตามที่สั่งทำ จึงมีความประสงค์ขอเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน จากการพิจารณาเห็นว่า การกระทำของผู้ขายที่ผิดนัดการส่งมอบ และต่อมาเมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าแล้วสินค้าชำรุด เป็นการกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ขาย เพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภค จำนว๙,๕๐๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สเสริมความงาม จำนวน ๑๐ ครั้ง แถม ๑ ครั้ง กับสถานประกอบกิจการสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง เป็นเงินจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท และใช้บริการไปแล้วจำนวน ๓ ครั้ง และมีการแจ้งวันเวลาล่วงหน้าทุกครั้ง แต่ได้รับการให้บริการไม่สะดวก ไม่ว่าง ต่อมาสถานประกอบกิจการได้ยกเลิก จึงมีความประสงค์ขอเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ กรณีดังกล่าวเห็นว่าผู้บริโภคไม่สามารถเข้ารับบริการได้ตามสัญญาจึงได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน แต่ถูกปฏิเสธการคืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ กรณีดังกล่าวจึงถือว่าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่สถานประกอบการเพื่อบังคับให้คืนเงินให้กับผู้บริโภค จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคได้ซื้อลูกแมวพันธุ์สก๊อตทิชโฟลด์ จำนวน ๑ ตัว ราคา ๖,๕๐๐ บาทผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก โดยชำระเงินมัดจำ ๑,๕๐๐ บาท เข้าบัญชีผู้ที่จะส่งแมวดังกล่าวให้แต่ปรากฏว่าเจ้าของบัญชีไม่จัดส่งแมวมาให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด อีกทั้งผู้บริโภคไม่สามารถติดต่อเจ้าของบัญชีที่รับโอนได้อีก กรณีดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้รับโอนบัญชีที่จะส่งแมวมีพฤติการณ์ที่จะไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องตามสัญญา จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งเจ้าของบัญชีผู้จัดส่งแมว เพื่อบังคับให้คืนเงินให้ผู้บริโภค จำนวน ๑,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

กรณีผู้บริโภคว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่งจัดหาพนักงานมาดูแลบิดาที่บ้านโดยชำระเงินมัดจำล่วงหน้าหนึ่งเดือน จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา – ๒๐๑๙ ทำให้ผู้บริโภคและครอบครัวไม่ต้องการให้บุคคลภายนอกเข้ามาในบ้านพักอาศัยจึงแจ้งบอกเลิกสัญญา โดยห้างฯ ตกลงจะคืนเงินมัดจำ จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท โดยแบ่งชำระเป็น ๓ งวด ๆ ละ๕,๐๐๐ บาท ต่อมาห้างฯ ไม่ชำระเงินงวดที่ ๒ และงวดที่ ๓ งวดละ ๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ตามบันทึกข้อตกลง จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

ทั้งนี้  ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๓/๒๕๖๕ ได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน ๙ ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น  ๔๓,๘๑๑,๘๒๕.๐๑ บาท (สี่สิบสามล้านแปดแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันแปดร้อยยี่สิบห้าบาทจุดศูนย์หนึ่งสตางค์) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย