สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 มี.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนลดลง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.เพชรบูรณ์ (53 มม.) จ.ระนอง (47 มม.) และ จ.สุราษฎร์ธานี (38 มม.)

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 27,483 ล้าน ลบ.ม. (47%) ขนาดใหญ่ 21,612 ล้าน ลบ.ม. (45%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง (เขื่อนแม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+ กอนช. ติดตามข้อมูลระดับน้ำทำนายสูงสุด – ต่ำสุด ปี 2565 โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และการคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) คาดว่าจะเกิดน้ำทะเลหนุนสูง ในช่วงเดือน ก.พ.–เม.ย. 65 ประกอบกับอิทธิพลของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ในช่วงดังกล่าวนี้เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ รวมทั้งเกิดน้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตรโดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 28 มี.ค.-3 เม.ย. 65 ระดับน้ำอยู่ที่ 1.70–1.80 เมตร และจะมีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้ง คาดว่าในช่วงวันที่ 4 – 6 พ.ค. 65 และวันที่ 19 – 21 พ.ค. 65 จะยังคงเกิดน้ำทะเลหนุนสูงได้อีก

ทั้งนี้ กอนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบริหารจัดการน้ำ และควบคุมค่าความเค็มบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเค็มรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ โดยกรมชลประทานวางแผนควบคุมค่าความเค็มจากการระบายน้ำผ่านอาคารชลประทานการประปานครหลวงบริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล และกรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยงข้องติดตามสถานการณ์น้ำขึ้นน้ำลงของแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร