การฝึกอบรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การสืบสวนสอบสวน และการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์

กระทรวงยุติธรรม โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล จัด ฝึกอบรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การสืบสวนสอบสวน และการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์”

วันที่ 29-31 มี.ค.62 ณ โรงแรมคาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กระทรวงยุติธรรม โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) และคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists: ICJ) จัด “การฝึกอบรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การสืบสวนสอบสวน และการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการสืบสวนสอบสวน และการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในกรณีถูกกระทำทรมาน กรณีถูกบังคับให้หายสาบสูญ รวมทั้งกรณีการเสียชีวิตโดยมิชอบ ตามกรอบแนวทางของพิธีสารมินนิโซต้า (Minnesota Protocol) ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กรมสอบสวนคดีพิเศษ สถาบันิตืวิทยาศาสตร์ ฯลฯ  สำหรับการอบรมฯ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก Mr.Kingsley Abbott จาก ICJ/ Mr.Badar Farrukh จาก OHCHR /พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกคณะที่ปรึกษาในการแก้ไขพิธีสารฯ /คุณอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณสมชาย หอมละออ ที่ปรึกษาทางกฎหมายอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คุณอมรรัตน์ เล็กวิชัย กลุ่มตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และนางสาวนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นวิทยากรในประเด็นความเป็นมาและสาระสำคัญของพิธีสารมินนิโซต้า การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิตอลและเครื่องมือสื่อสาร หลักฐาน การเก็บตัวอย่าง และการพิสูจน์ซากศพ การสัมภาษณ์เหยื่อและพยาน การประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ฯลฯ
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมฯ ได้ให้ความสนใจ แลกเปลี่ยนข้อมูลและซักถามตลอดการอบรมฯ เช่น การส่งเสริมบทบาทอัยการในการสืบสวนสอบสวน ข้อท้าทายในการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน เทคนิคการสืบหาข้อมูลดิจิตอล สิทธิของเหยื่อในการเข้าถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงตามหลัก Right to the truth ฯลฯ ซึ่งกรมฯ จะได้หารือร่วมกับ OHCHR และ ICJ เพื่อประมวลผลที่ได้จากการประชุม และพิจารณาจัดการอบรมเทคนิคการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายตามมาตรฐานสากลต่อไป