เข้มข้นต่อเนื่อง! จ.อุบลฯ ประชุมขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเติมเต็ม “เมนูความช่วยเหลือครัวเรือน” ทั้ง 6 ด้าน
รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาความยากจน แบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการฯ ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) มีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานในระดับชาติ จนถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ 3 ระดับ ได้แก่
ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และได้มีการตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” เข้าไปจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน/แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัวแล้ว ทีมพี่เลี้ยงจะได้นำข้อมูลมารายงาน ศจพ.อำเภอ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จในระดับอำเภอ ทั้ง 5 มิติ ได้แก่
1)สุขภาพ เช่น การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง
2)ความเป็นอยู่ เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
3)การศึกษา เช่น การฝึกอาชีพ
4)ด้านรายได้ เช่น การจัดหาที่ดินทำกิน เกษตรแปลงใหญ่ และ
5)การเข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น สนับสนุนเบี้ยผู้พิการ ผู้สูงอายุ ให้ผู้ที่ตกหล่นจากระบบ โดยทีมพี่เลี้ยงจะลงไปพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
จังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การนำของ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการทบทวนเมนูความช่วยเหลือครัวเรือน ที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุบลราชธานี ในประเด็นที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้เมนูความช่วยเหลือครัวเรือน ครอบคลุมปัญหาตามมิติด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการปรับโครงสร้างทีมพี่เลี้ยง ตามข้อสั่งการจากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ให้ความสำคัญกับโครงสร้างและการดำเนินงานของทีมพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ ให้ประสบผลสำเร็จ
จึงได้จัดการประชุมขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในวันที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมปทุมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้ นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมฯ โดยมีนางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี และคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) อุบลราชธานี เข้าร่วมการประชุมฯ
ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) อุบลราชธานี เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย การสรุปรายงานผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มอบนโยบายการขับเคลื่อนงานฯ ของจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 20 จังหวัด
นอกจากนั้นที่ประชุมฯ ยังได้มีการแจ้งเพิ่มเติมและทบทวนคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ ตลอดจนผลการดำเนินงานตาม 6 ขั้นตอนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การสร้างกลไก,ขั้นตอนที่ 2 จำแนกและตรวจสอบข้อมูล, ขั้นตอนที่ 3 จัดทำแผนครัวเรือน, ขั้นตอนที่ 4 บันทึกแผนงาน/โครงการในระบบ eMENSCR, ขั้นตอนที่ 5 บูรณาการความช่วยเหลือ และขั้นตอนที่ 6 รายงานผล
สำหรับเรื่องพิจารณาที่สำคัญในการประชุมฯ คือการทบทวนและเติมเต็มเมนูความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมาย ศจพ.จ.อุบลราชธานี ในทั้ง 5 มิติ ได้แก่
1)มิติด้านสุขภาพ
2)มิติด้านความเป็นอยู่
3)มิติด้านการศึกษา
4)มิติด้านรายได้
5)มิติด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ
6)มิติด้านอื่นๆ ตามประเด็นข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล และพิจารณา “เมนูความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมาย” ของ ศจพ.จ.อุบลราชธานี ควบคู่กันเพื่อให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพสำหรับการใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาครัวเรือนเป้าหมายต่อไป
ท้ายที่สุด ที่ประชุมฯ ยังได้มีมติให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละเมนูความช่วยเหลือ ได้ดำเนินการส่งครัวเรือนเป้าหมายให้หน่วยงานเจ้าของเมนูและรายงานผ่านระบบ Google form ให้ฝ่ายเลขานุการ ภายในวันที่ 28 มีนาคม 2565 รวมถึงการรายงานระบบรายงานการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน และการเข้ากลุ่มไลน์ “UBON TPMAP” เพื่อเป็นช่องทางการติดตามประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการจัดส่งรายงานผลการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายต่อไป
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี.. ภาพข่าว/รายงาน