จุรินทร์ ส่งออกเดือน ก.พ.65 โต 16.2% ทำรายได้เข้าประเทศ 770,819 ล้านบาท ตลาดรัสเซีย ยอดพุ่งเป็นอันดับ1

วันที่ 24 มีนาคม 2565 เวลา 12.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พณ) ครั้งที่ 1/2565 พร้อมด้วยนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องกิติยากรณ์วรลักษณ์ ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี +16.2% มีมูลค่าการส่งออก 770,819 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 776,612 ล้านบาทเป็น +16.8% การที่อัตราการนำเข้ายังเป็นบวกถือเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ มีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิตนำไปสู่การส่งออกนำรายได้เข้าประเทศต่อไป ตัวเลข 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.65) +12.2% มีมูลค่า 1,479,131 ล้านบาท

สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 65 ตลาดที่ขยายตัวในระดับสูง 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

1.รัสเซีย+33.4%

2.อาเซียน 5 ประเทศ +31.5%

3.ฮ่องกง +29.8%

4.เกาหลีใต้ +28.9%

5.สหรัฐฯ +27.2%

6.อินเดีย +23%

7.ไต้หวัน +17.7%

8.สหราชอาณาจักร +17.3%

9.CLMV +14.4%

10. ตะวันออกกลาง +13.8%

ซึ่งรายละเอียดรายสินค้ายังไม่มีเนื่องจากมีการเปลี่ยนระบบพิกัดภาษีศุลกากรในรอบ 5 ปี

ปัจจัยที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 2565 ประกอบด้วยหลายปัจจัยที่เอื้อต่อการส่งออก

1.การเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตร ตามยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เช่น ข้าว ซึ่งปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกข้าวบรรลุเป้าหมายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000,000 ตันและจะมีตลาดเพิ่มในตะวันออกกลาง

2.ตลาดใหม่ที่ตั้งเป้าไว้ โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เริ่มปรากฏผลคือซาอุดิอาระเบีย โดย อย.ซาอุฯ อนุญาตให้นำเข้าไก่จาก 11 โรงงานของไทยได้แล้วและสัปดาห์หน้าจะมีการส่งออกไก่ล็อตแรกไปยังซาอุดิอาระเบีย

3.กระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศในการบรรจุสินค้าและบริการของไทยลงบนแพลตฟอร์มประสบความสำเร็จ ล่าสุดแพลตฟอร์มไต้หวัน สามารถนำสินค้าไทยไปขายบนแพลตฟอร์ม 3 แพลตฟอร์ม

1) PChome

2) PINKOI online marketplace เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไลฟสไตล์ สินค้า BCG

3)แพลตฟอร์มออนไลน์ของไปรษณีย์ไต้หวัน

4.การส่งเสริมกิจกรรม Online Business Matching หรือ OBM จับคู่ค้าขายออนไลน์และส่งเสริมการขายตามห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ที่เราดำเนินการต่อเนื่องประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มอาหารแห่งอนาคต สินค้า BCG สามารถสร้างมูลค่าได้ 3,450 ล้านบาท โดยคู่เจรจา 5 อันดับแรกประกอบด้วย อินเดีย เมียนมา ญี่ปุ่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ และมีการจัด In-store promotion ที่ห้างดองกี้ของญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการขายสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ผลไม้และข้าว เป็นต้น

และภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัวดูจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI)อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 จะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทย และสุดท้ายสถานการณ์ค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังไม่รวมประเด็นที่จะเกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเรื่องโลจิสติกส์และค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ จะเป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามกับภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไปในรูปของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เดือนมีนาคมและเมษายนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและแก้ปัญหาร่วมกับเอกชนต่อไปและลงลึกจากข้อมูลของทูตพาณิชย์ทั่วโลกว่าจะมีผลกระทบด้านไหน