กรมทางหลวงชนบท มุ่งยกระดับมาตรฐานงานทางและสะพานอย่างต่อเนื่องเดินหน้าพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพวัสดุและงานก่อสร้างทาง (QCS)

กรมทางหลวงชนบท มุ่งยกระดับมาตรฐานงานทางและสะพานอย่างต่อเนื่องเดินหน้าพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพวัสดุและงานก่อสร้างทาง (QCS) เพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้เส้นทาง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพวัสดุและงานก่อสร้างทาง (Quality Control System : QCS) เพื่อติดตามและตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของโครงการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานงานทางของกรมฯ พร้อมมุ่งพัฒนากระบวนงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกขั้นตอน สร้างความมั่นใจในการเดินทางให้กับประชาชนผู้ใช้ถนนทางหลวงชนบท ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่คำนึงถึงความสำคัญของมาตรฐานในการดำเนินงานทุกขั้นตอน เพื่อให้งานทางและสะพานในโครงข่ายมีคุณภาพและประสิทธิภาพการใช้งานในระยะยาว

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า เนื่องจากจำนวนเส้นทางในโครงข่ายทางหลวงชนบทที่กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่มีการพัฒนาโครงข่ายเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทช.จึงได้มีนโยบายในการติดตาม ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยการกำหนดแนวทางเพื่อพัฒนามาตรฐานการก่อสร้าง การบูรณะ และการบำรุงรักษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สอดคล้องกับแผนงานพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสำนักวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพวัสดุและงานก่อสร้างทาง (QCS) เพื่อตรวจสอบคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในทุกขั้นตอน พร้อมทั้งติดตามกระบวนการดำเนินงานทางและสะพานให้มีการปฏิบัติงานอย่างรัดกุม มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่กรมฯ กำหนด โดยดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ (Triple Check) ดังนี้

ระดับที่ 1 หน่วยควบคุมคุณภาพแขวงทางหลวงชนบททั้ง 76 จังหวัด ดำเนินการตรวจสอบและทดสอบคุณภาพวัสดุทุกชั้นทาง (Must Check) ขณะการดำเนินการก่อสร้างทุกขั้นตอนและทุกโครงการ เพื่อควบคุมความสม่ำเสมอของวัสดุที่นำมาใช้

ระดับที่ 2 หน่วยควบคุมคุณภาพสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 1 – 18 ดำเนินการทดสอบอีกครั้งหลังจากผ่านการทดสอบในระดับที่ 1 เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการสอบทาน (Spot Check) ให้เกิดความมั่นใจว่าคุณสมบัติและส่วนผสมของวัสดุที่นำมาใช้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

ระดับที่ 3 หน่วยควบคุมคุณภาพสำนักวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนา ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพงานก่อสร้าง โดยการสุ่มตรวจสอบ (Random Check) ในโครงการก่อสร้างที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสอบทานโดยหน่วยงานส่วนกลางอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าทุกโครงการมีการใช้วัสดุที่มีคุณภาพและมีกระบวนงานก่อสร้างที่ได้มาตรฐานงานทางของกรมฯ

อย่างไรก็ตาม ทช.ได้มีเป้าหมายให้การดำเนินการควบคุมคุณภาพวัสดุและงานก่อสร้างทางทุกโครงการเป็นไปอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง โดยคงวิธีการตรวจติดตามให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมฯ เอาไว้ ซึ่งหากมีกรณีที่ตรวจสอบพบความบกพร่อง จะนำปัญหาดังกล่าวมาเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนามาตรฐานการควบคุมคุณภาพและกระบวนงานก่อสร้างให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต