GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ 351 จุด

พบมากที่สุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 158 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 119 จุด พื้นที่เกษตร 37 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 19 จุด พื้นที่เขตสปก. 15 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ #แม่ฮ่องสอน 196 จุด ครองแชมป์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 9 ติดต่อกัน รองลงมาเป็นจังหวัด #แพร่ 29 จุด และ #เชียงใหม่ 17 จุด ตามลำดับ สอดคล้องกับการประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 7 วัน (คือช่วงวันที่ 14 ถึง 20 มีนาคม 2565)

จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนลดลงต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เนื่องจากเกิดฝนตกจากพายุฝนฟ้าคะนอง แต่ในส่วนพื้นที่ภาคเหนือยังพบจุดความร้อนกระจายตัวเหมือนหลายวันที่ผ่านมา ซึ่งวันที่18มีนาคม พบมากถึง 261 จุด และมีการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วย ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม – 19 มีนาคม 2565 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนแล้ว 11,609 จุด ตามด้วยภาคเหนือ 10,669 จุด และภาคกลาง 6,086 จุด ตามลำดับ ส่วนเช้าวันนี้เวลา 09.00 น. ทางตอนบนของพื้นที่ภาคเหนือค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนจังหวัดอื่นๆ โดยรวมนั้นอยู่ในระดับดีถึงดีมาก เว้นเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่พบดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) อยู่ที่ระดับ 101 และ 131 ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย

สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ครองแชมป์เป็นสัปดาห์ที่ 3 ซึ่งวันนี้พบ 4,953 จุด รองลงมาอันดับ 2 เป็นประเทศไทย จำนวน 351 จุด และอันดับที่ 3 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจำนวน 325 จุด ตามลำดับ ข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่บริเวณแนวชายแดนภาคเหนือ เนื่องจากมีลมพัดฝุ่นละอองและหมอกควันเข้ามา ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพและสวมใส่หน้ากากอนามัยกันด้วยนะครับ

ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th

#จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #ไฟป่า #หมอกควัน #คุณภาพชีวิต #วิเคราะห์ข้อมูล #มลพิษทางอากาศ
#จุดความร้อน #THEOS2 #คุณภาพอากาศ #ค่าฝุ่นละออง #ฝุ่นพิษวิกฤติชาติ #รู้สู้ภัยพิบัติ