พด. ร่วมเปิดงาน “นวัตกรรมยกระดับมะม่วงไทย อาหารไทยเพื่อสุขภาพ” ปี 2565

วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน (กทช.) ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยนางสาวฉวีวรรณ์ พัฒนพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาหมอดินอาสาและบริหารจัดการเครือข่าย ผู้แทนกองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน (กวจ.) และเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมพิธีเปิดงาน “นวัตกรรมยกระดับมะม่วงและผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อสุขภาพ” เพื่อเสริมสร้างทักษะ องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการผลิตสู่การค้าและการส่งออกมะม่วงไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยมีผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม เป็นประธานเปิดงานฯ และผู้มีเกียรติจากส่วนราชการและภาคเอกชน รวมทั้งหมอดินอาสา เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมวัฒนา สวรรยาธิปัติ ชั้น 4 อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม ผอ.กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กล่าวว่า “กรมพัฒนาที่ดิน ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของดิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูกมะม่วง โดยกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ (สารเร่งพด.) ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ซึ่งในการจัดการดินพื้นที่ปลูกมะม่วงนั้น สามารถใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน

ได้แก่ การผลิตปุ๋ยหมักจากการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในการปรับปรุงบำรุงดินทั้งด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพของดิน เพิ่มธาตุอาหารในดิน ดินมีความสามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้น การใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ผลิตน้ำหมักชีวภาพสำหรับฉีดพ่น และรดบริเวณดินรอบต้นมะม่วงในช่วงอายุ 1-3 ปี เพื่อเป็นการเร่งการเจริญเติบโตของมะม่วง กระตุ้นจุลินทรีย์ในดินผลิตฮอร์โมน ทำให้รากมะม่วงดูดซึมธาตุอาหารดีขึ้น ส่งผลที่ดีต่อการเจริญเติบโตของมะม่วง

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์อีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน สามารถนำมาใช้ในแต่ละช่วงเวลาของการเจริญเติบโต อาทิ เมื่อเข้าถึงระยะการให้ผลผลิตของมะม่วงในช่วง 3-5 ปี จะใช้จุลินทรีย์ พด.9 ช่วยให้เกิดการละลายฟอสฟอรัสในดินกรด หรือดินเปรี้ยว ช่วยให้มะม่วงมีดอกที่สมบูรณ์ การใช้ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เพิ่มธาตุอาหารและทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ การใช้สารเร่งซุปเปอร์พด.7 สำหรับผลิตสารควบคุมและป้องกันแมลงศัตรูพืช และการใช้พด.14 ไตรโคเดอร์มาฉีดพ่นเพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสที่เป็นสาเหตุของโรคผลเน่าในระยะหลังเก็บเกี่ยว ตลอดจนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง บำรุงฟื้นฟูสภาพต้นหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งต้องมีการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นมะม่วงมีการแตกกิ่งและบำรุงตาดอกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการจัดการดินแบบครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรหรือหมอดิน มีผลผลิตมะม่วงในปริมาณมากและมีคุณภาพดี”

การเปิดงานฯ ในครั้งนี้ ได้มีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่หมอดินอาสาที่ร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการผลิตมะม่วง ในหัวข้อ “มะม่วงคุณภาพ จุลินทรีย์ดิน ระบบดินและน้ำ เพื่อสร้างคุณค่าและราคา” ซึ่งจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น.

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีนิทรรศการนวัตกรรมจุลินทรีย์ พด. พร้อมให้บริการและให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน รวมทั้งหมอดินอาสาและเครือข่ายที่เป็นเจ้าของภูมิปัญญาการผลิตมะม่วง ร่วมนำเสนอสินค้าผลิตภัณฑ์มะม่วงคุณภาพสายพันธุ์ต่างๆ จำนวน 10 บูธ พร้อมจัดจำหน่ายในราคาพิเศษตลอดการจัดงาน ทั้งนี้ ขอเชิญชวนเกษตรกรและประชาชนทั่วไปผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ในวันที่ 19 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2565 นี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ อาคารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ประตู 1 ถนนงามวงศ์วาน) กรุงเทพฯ