กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 มีนาคม 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 9 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/65

กรมชลประทาน ดำเนินการสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรและอุปโภค-บริโภคในเขตพื้นที่ ต.ท่าชัย อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท และได้ประชาสัมพันธ์แนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ณ ต.ราษฎรพัฒนา อ.สามโก้ จ.อ่างทอง

2. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

2.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 28,436 ล้าน ลบ.ม. (49%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 22,515 ล้าน ลบ.ม. (47%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,354 ล้าน ลบ.ม. (66%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,567 ล้าน ลบ.ม. (51%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ภูมิพล และสิริกิติ์

2.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 4,859ล้าน ลบ.ม. (27%) โดยเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ถึงปัจจุบัน)

3.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 22,347ล้าน ลบ.ม. (47%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 16,678 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 12,077 ล้าน ลบ.ม. (72%)

3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 4,700 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,932ล้าน ลบ.ม. (84%)

4. คุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนน้ำทะเลหนุนสูง

4.1 คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

4.2 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด เวลา 06.45 น. ประมาณ 1.53 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติวิเคราะห์แล้วพบว่ายังไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

เมื่อวันทื่ 17 มี.ค .65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้มีข้อสั่งการมอบให้ สทนช. ประสาน และบูรณาการขับเคลื่อนแผนหลักการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก มอบให้กรมชลประทานใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงบริหารจัดการน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงให้เต็มประสิทธิภาพ มอบให้ กปภ. วางแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค พร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ล่วงหน้าให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ และมอบให้ จ.ฉะเชิงเทรา เร่งพิจารณาเสนอแผนงานแก้ไขปัญหาด้านน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข