สินค้าน้ำผลไม้และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การส่งออกสินค้าน้ำผลไม้ พบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสุขภาพเพิ่มขึ้น น้ำผลไม้จึงเป็นสินค้าหนึ่งที่ผู้บริโภคเลือกบริโภคเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและภูมิคุ้มกัน โดยผู้ประกอบการต่างชูจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริมวิตามินและคุณค่าทางโภชนาการ สำหรับแนวโน้มผู้บริโภคปัจจุบัน จะให้ความสนใจเกี่ยวกับการลดปริมาณน้ำตาล มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและจริยธรรม รวมทั้งกระบวนการผลิตที่ต้องมีความยั่งยืน

ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำผลไม้อันดับที่ 8 ของโลก ปี 2564 ไทยส่งออกน้ำผลไม้มูลค่า 640.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 20,189.03 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 14.31 ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าน้ำผลไม้ถือเป็นกลไกที่มีส่วนสำคัญช่วยบริหารจัดการสินค้าเกษตร ป้องกันผลผลิตสินค้าเกษตรและผลไม้ล้นตลาด รวมทั้งเป็นการขยายมูลค่าการส่งออก และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเพื่อจำหน่ายให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

สนค. ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลบริษัทมินเทล (Mintel) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก โดยมินเทลได้ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ที่วางจำหน่ายทั่วโลก ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (ปี 2555 – 2564) พบว่าผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ที่ผลิตจากไทย มีการวางจำหน่ายมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีจำนวน 3,190 รายการ คิดเป็นร้อยละ 4.2 รองจากจีน ที่มีสินค้าน้ำผลไม้วางจำหน่ายมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก มีจำนวน 3,628 รายการ คิดเป็นร้อยละ 4.78 และอันดับ 3 คือ บราซิล จำนวน 2,839 รายการ คิดเป็นร้อยละ 3.74

นอกจากนี้ น้ำผลไม้จากไทยมีการกล่าวอ้างถึงผลิตภัณฑ์ในประเด็นต่าง ๆ เรียงตามลำดับ ดังนี้

(1) ฮาลาล ร้อยละ 49.2

(2) ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร/วัตถุกันเสีย ร้อยละ 41.6

(3) บรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ร้อยละ 31.3

(4) ปราศจากการเติมสารกันเสีย ร้อยละ 27.8

(5) มังสวิรัติ ร้อยละ 21.0

(6) รีไซเคิล ร้อยละ 20.9

(7) ปราศจากการเติมสีสังเคราะห์ ร้อยละ 19.7

(8) ไม่เติมน้ำตาล ร้อยละ 16.1

(9) สื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 16.1

(10)ความยั่งยืน ร้อยละ 13.7

ซึ่งการสอดคล้องกับคุณลักษณะผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกจะนิยมอ้างถึงประเด็นเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม และรีไซเคิล เป็นลำดับต้น ๆ

เมื่อพิจารณาตลาดส่งออกน้ำผลไม้ไทยที่สำคัญของไทย 3 อันดับแรก พบว่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำผลไม้อันดับ 1 ของโลก เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยมาตลอด และมีแนวโน้มเป็นตลาดส่งออกน้ำผลไม้อันดับ 1 ของไทยต่อไป โดยไทยมีสัดส่วนการส่งออกน้ำผลไม้ไปตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูง ในปี 2564 ไทยมีการส่งออกน้ำผลไม้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 266.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.6 ของมูลค่าการส่งออกน้ำผลไม้ทั้งหมดของไทย โดยแนวโน้มตลาดน้ำผลไม้ในสหรัฐฯ มีความนิยมบริโภคน้ำผลไม้ออร์แกนิคเพิ่มขึ้น น้ำผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น มีน้ำตาลหรือแคลอรี่ต่ำ รวมทั้งมีการเติมสารเพิ่มคุณประโยชน์ อาทิ วิตามิน และพรีไบโอติก ผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ ต้องการดื่มน้ำผลไม้เพื่อช่วยดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพในอนาคต และให้ความสำคัญกับคุณภาพของส่วนผสมในน้ำผลไม้เป็นอย่างมาก

ตลาดส่งออกน้ำผลไม้ที่สำคัญอันดับ 2 ของไทย ได้แก่ จีน ในปี 2564 ไทยส่งออกน้ำผลไม้ไปจีนเป็นมูลค่า 48.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ ตลาดจีนเริ่มกลายมาเป็นตลาดส่งออกน้ำผลไม้ที่สำคัญของไทย ตั้งแต่ปี 2560 (ในปี 2560 จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 4 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4)และสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปตลาดจีนขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มตลาดน้ำผลไม้ในจีน นิยมน้ำผลไม้ที่มีความเข้มข้นสูง เน้นวิตามินและแร่ธาตุที่สกัดจากผลไม้โดยตรง ไม่เติมสารให้ความหวาน สี หรือสารกันบูดและนิยมซื้อน้ำผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นเนเธอร์แลนด์ เป็นตลาดส่งออกน้ำผลไม้ที่สำคัญอันดับ 3 ของไทย มีมูลค่าส่งออก 36.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติย้อนหลัง เนเธอร์แลนด์เคยเป็นตลาดส่งออกสินค้าน้ำผลไม้ที่สำคัญของไทย ในปี 2555 ไทยส่งออกน้ำผลไม้ไปเนเธอร์แลนด์ เป็นมูลค่าถึง 65.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกน้ำผลไม้ไทยไปเนเธอร์แลนด์ลดลงมาก

ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำเข้าน้ำผลไม้ อันดับที่ 3 ของโลก โดยประเทศผู้ส่งออกน้ำผลไม้รายใหญ่ให้เนเธอร์แลนด์ คือ บราซิล เยอรมนี และโปแลนด์ สำหรับประเทศคู่แข่งของไทยที่มีแนวโน้มการส่งออกในตลาดเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งออกน้ำผลไม้ประเภทเดียวกับไทย ซึ่งชนิดของน้ำผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปในตลาดเนเธอร์แลนด์ คือ น้ำสับปะรด (HS 200949) และน้ำผลไม้อื่นๆ (HS 200989) โดยแนวโน้มตลาดน้ำผลไม้ในเนเธอร์แลนด์ ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลในน้ำผลไม้เป็นอย่างมาก และให้ความสนใจความสดใหม่ของน้ำผลไม้มากกว่าคำกล่าวอ้างด้านสุขภาพ

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า น้ำผลไม้เป็นสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มของไทย ที่มีแนวโน้มดีและสามารถขยายมูลค่าการส่งออกได้ และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย รวมทั้งเกษตรกร ควรมีส่วนร่วมในการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตน้ำผลไม้ที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรม รวมทั้งเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนติดตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดสำคัญของไทย รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีน้ำตาล มาตรฐานฉลากคาร์บอน การตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและแบรนด์น้ำผลไม้ไทยสามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ปรับปรุงรสชาติและเนื้อสัมผัส ทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดส่งออกสำคัญได้

————————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
16 มีนาคม 2565