สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 16 มี.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนและร้อนจัดบางพื้นที่ โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน (78 มม.) จ.พิษณุโลก (66 มม.) และ จ.ลำพูน (51 มม.)

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 28,860 ล้าน ลบ.ม. (50%) ขนาดใหญ่ 22,895 ล้าน ลบ.ม. (48%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง (เขื่อนแม่งัด ภูมิพล และสิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+กอนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำเค็มบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 65

= กรมชลประทาน ดำเนินการควบคุมค่าความเค็ม ดังนี้

– วางแผนบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาโดยคำนึงถึงมาตรการประหยัดน้ำจากพื้นที่ตอนบน

– ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านคลองสาขายังแม่น้ำท่าจีน ก่อนจะผันน้ำเข้าสู่คลองสาขาและสูบน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

– บริหารจัดการประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคตามรอบเวร รวมทั้งขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า งดสูบน้ำสำหรับการเพาะปลูก

= การประปานครหลวง สูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหลบเลี่ยงสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้น้อยที่สุด และปฏิบัติการ Water Hammer เพื่อผลักดันน้ำเค็ม

= กรุงเทพมหานคร ควบคุมการปิด-เปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาและใช้อุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม

ทั้งนี้ คาดการณ์ในช่วงวันที่ 16-18 มี.ค. 65 อาจเกิดน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและส่งผลให้ความเค็มรุกบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขอให้หน่วยงานติดตามเฝ้าระวังและปรับแผนการบริหารจัดการเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น