ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดงานเทศกาลดอกลำดวนบานศรีสะเกษ

ยิ่งใหญ่ตระการตา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดงานเทศกาลดอกลำดวนบานศรีสะเกษ เยี่ยมชมตลาดโบราณ ยกระดับ ผ้าทอแบรนด์ศรีสะเกษ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าผ้าทอเบญจศรี สู่สากล

วันที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 18.30 น. ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2565 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2565 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีรศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ที่ปรึกษา รมต.อว. ศ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิงแวดล้อมไทย ที่ปรึกษาคณะกรรมการ และดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมคณะ ร่วมพิธีเปิดงาน และร่วมรับชม การแสดง แสง สี เสียง (Light & Sound) “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร” ตอน สืบราช มรรคา ศรีชยราชา ชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นการแสดงละครเล่าเรื่องตำนานการสร้างเมืองในอดีตที่ภาคภูมิใจของชาวจังหวัดศรีสะเกษ สืบสานตำนานที่ยิ่งใหญ่อลังการ ท่ามกลางบรรยากาศ และกลิ่นหอมของดอกลำดวนที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง

โอกาสนี้ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวต้อนรับประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลดอกลำดวนบานสืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2565 เพื่ออนุรักษ์จารีตประเพณี สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาวัฒนธรรมประเพณีสนับสนุนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมชนสี่เผ่า (ลาว เขมร ส่วย เยอ) วิถีชีวิตชุมชน ท้องถิ่นของจังหวัดศรีสะเกษ ที่มากมายและหลากหลาย เช่น ภาษา อาหาร เครื่องแต่งกาย ศิลปะการแสดง ช่างฝีมือ และอื่นๆ โดยนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการจัดงานกล่าวรายงาน

เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2565 เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะ ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมชองชน 4 เผ่า คือ ลาว เขมร ส่วย เยอ ของจังหวัดศรีสะเกษ รวมส่งเสริมการท่องเที่ยวและเผยแพร่เอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ โดยกิจกรรมภาคกลางวันประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครรินทราบรมนาถชนนี แสดงศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชน 4 เผ่า สาธิตและจำหน่ายอาหารพื้นเมือง ประกวดผลิตภัณฑ์พื้นเมือง นิทรรศการภาพเขียน และสาธิตการวาดภาพ จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์พื้นเมือง และผลผลิตทางการเกษตร ประกวดและจำหน่ายอาหารท้องถิ่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสาน การประกวดดนตรีโฟล์คซอง และในภาคกลางคืน มีการแสดงแสง สี เสียง อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตราศรีพฤทเธศวร เพื่อสืบสานตำนานการสร้างเมืองศรีสะเกษ ที่ยิ่งใหญ่อลังการ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.กล่าวว่า ผมและคณะ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี พ.ศ.2565 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติว่าด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (สวทช.) ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในมิติทางด้านเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน โดยคณะทำงานฯจังหวัดศรีสะเกษ

ผมขอชื่นชมในความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ การจัดงานในครั้งนี้เป็นการแสดงถึง การอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงาม ซึ่งท่านทั้งหลายจะได้รับชม สะท้อนความเป็นมาของชาวจังหวัดศรีสะเกษไปสู่ลูกหลาน และหวังว่าการจัดงานที่จัดขึ้นในโอกาสหน้าจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศได้มาเยี่ยมจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งผมมั่นใจว่าชาวจังหวัดศรีสะเกษจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

ในการนี้ นางสาว วริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ 22 อำเภอ และนักวิชาการพัฒนาชุมชน เครือข่าย OTOP ร่วมให้การต้อนรับคณะด้วยการมอบเสื้อแส่วโบราณ ศรีมะดัน เสื้อแบรนด์ศรีสะเกษ และพาเยี่ยมชมตลาดโบราณ ซึ่งเป็นโซนจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นของจังหวัดศรีสะเกษ เช่น ผ้าทอ และอาหารพื้นถิ่น และในโอกาสแห่งความเป็นมงคลนี้ ได้เปิดตัวผ้าทอเบญจศรี “ผ้าศรีลำดวนเคลือบกลิ่นลำดวน” ในส่วนของการยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีการต่อยอดและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับสิ่งทอพื้นเมือง ด้วยนาโนเทคโนโลยีมาเคลือบบนผ้าทอของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถ ทนต่อการซัก 10 ครั้ง โดยมีคุณสมบัติพิเศษ นุ่ม และ เพิ่มกลิ่นหอม “ดอกลำดวน” ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดของจังหวัดศรีสะเกษ สร้างอัตลักษณ์ให้กับผ้าทอพื้นเมืองและเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดสากลสร้างเสน่ห์และอัตลักษณ์ให้กับผ้าทอของจังหวัดศรีสะเกษ ช่วยเพิ่มมูลค่าสิ่งทอ 5 คุณสมบัติ ดังนี้

1)สะท้อนน้ำ ลดการปนเปื้อน ลดการซักล้าง

2) ป้องกันรังสียูวี ลดปัญหาสีซีดจาง และการทำลายความแข็งแรงของเส้นใย

3) ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียลดการเกิดกลิ่นอับ ลดการซักล้าง

4) ให้กลิ่นหอม ด้วยเทคโนโลยีควบคุมการปล่อยกลิ่นให้หอมติดทนนาน

5) นุ่มลื่น กันยับ เพื่อให้รีดง่ายและยับยาก

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่าจะพัฒนาและส่งเสริมให้ กลุ่ม OTOP จังหัดศรีสะเกษยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในเรื่องของเทคโนโลยีและวนวัตกรรม ดังนี้

1.การใช้ เอนไซม์ “ENZease” ช่วยทำความสะอาดเส้นใยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดสีธรรมชาติลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการฟอกย้อม รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

2.เทคนิคการสกัดสีธรรมชาติให้ย้อมติดทนนาน

3.เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยคุณสมบัติพิเศษทางด้านนาโนเทคโนโลยี (Anti Bacteria/Anti UV/นุ่มลื่น/กลิ่นหอมอัตลักษณ์/สะท้อนน้ำ)

4.กี่ทอมืออัตโนมัติ ช่วยในการจดจำลวดลายและเพิ่มกำลังการผลิตสิ่งทอ

5.การอนุรักษ์ เก็บลวดลายอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยใช้แพลตฟอร์มนวนุรักษ์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว

6.การออกแบบที่ทันสมัย ตรตามความต้องการ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงตลาดใหม่

นอกจากนี้การทำงานแบบบูรณาการโดยอาศัยเครือข่ายทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มรดกภูมิปัญญา ชูผ้าอัตลักษณ์เบญจศรี “ผ้าศรีลาวา ผ้าศรีกุลา ผ้าศรีมะดัน ผ้าศรีลำดวน และผ้าศรีมะเกลือ” สร้างรายได้ กระจายสู่ชุมชน ซึ่งระหว่างการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน ยอดจำหน่ายสะสมตั้งแต่วันที่ 9 -10 มีนาคม 2565 จำนวน 996,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สมดังคำว่า “อะไร ๆ ก็ดีที่ศรีสะเกษ”

#OTOPศรีสะเกษ #ผ้าทอแบรนด์ศรีสะเกษ #ศรีสะเกษธานีผ้าศรีแส่ว #อะไรอะไรก็ดีที่ศรีสะเกษ #Cddsisaket
พัฒนาชุมชนศรีสะเกษ : นครแห่งความสุข
กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน : รายงานข่าว