จังหวัดนครพนม เร่งส่งเสริมการทอผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”

วันที่ 11 มีนาคม 2565 นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม มอบหมาย นางวรนุช กรุงเกตุ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนักวิชาการพัฒนาชุมชน ออกติดตามเร่งส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มทอผ้าในพื้นที่จังหวัดนครพนม เร่งมือทอผ้าและผลิตผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาด ซึ่งมีผู้สนใจสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก และเตรียมความพร้อมในการทอผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” สำหรับส่งเข้าประกวดในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ปัจจุบันมีกลุ่มดำเนินการถอดแบบลายผ้าและเริ่มทอผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” จำนวน 35 กลุ่ม (จากกลุ่มทอผ้าทั้งหมด 137 กลุ่ม) ในพื้นที่ 12 อำเภอ ซึ่งมีทั้งเทคนิคขิดหรือยกดอก (โดยเฉพาะอำเภอนาหว้าและอำเภอนาแก) และเทคนิคมัดหมี่ โดยจังหวัดนครพนมได้สร้างทีมพี่สอนน้องในการสอนถอดแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อออกไปสอนการถอดแบบลายผ้า การมัดหมี่ลายผ้า การย้อม โดยเน้นย้อมสีธรรมชาติจากพืชสมุนไพรไม้มงคลในพื้นถิ่น

รวมทั้งมีการขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบประชารัฐ 7 ภาคี มีการทำ MOU 73 หน่วยงานภาคี มีการรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทย ประชาสัมพันธ์เชิญชวนทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ กลุ่มองค์กร เครือข่าย สวมใส่ผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยและรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ภายใต้คำขวัญ “ชาวนครพนมภาคภูมิใจ สวมใส่ผ้าไทยทุกวัน” นำรายได้สู่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 297 กลุ่ม/ราย จำนวนสมาชิกรวม 1,863 ราย ยอดจำหน่ายผ้าและเครื่องแต่งกาย ในปี 2564 จำนวน 477,720,070 บาท

และปัจจุบันมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้นทำให้รายได้จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และในปี 2565 จังหวัดนครพนมได้สร้างทีม “คนรุ่นใหม่หัวใจ คือชุมชน” เพื่อเป็นทีมนักออกแบบผ้าไทย นักการตลาด วิเคราะห์แนวโน้มการผลิตและการตลาด เพื่อพัฒนารูปแบบ การแปรรูปผ้าไทยให้แปลกใหม่ สามารถใช้หรือสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย สร้างมูลค่าเพิ่มพัฒนาสู่สากล นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นการสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย อีกทั้งยังทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ถูกเลิกจ้างกลับมาอยู่บ้าน หรือผู้ที่รายได้ลดลงจากผลกระทบ หันมาทำอาชีพในพื้นถิ่นโดยสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มทอผ้า สมาชิกกลุ่มแปรรูปผ้า เป็นตัวแทนจำหน่ายผ้าให้กลุ่ม หรือผลิตเส้นไหมให้กลุ่ม เกิดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างยั่งยืน