มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จับมือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จับมือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

วันที่ 7 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมเก็ตโฮ่ ชั้น 5 สำนักงานวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จัดนิทรรศการด้านวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์แผนไทย การใช้พืชเสพติดในทางการแพทย์ และเสวนาทางวิชาการ พร้อมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม และบุคลากร การวิจัยและนวัตกรรม ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยนายยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้ลงนามในครั้งนี้ พร้อมนี้ได้รับเกียรติจากคณะผู้บริหาร ม.อ.ภูเก็ต และคณะผู้บริหารกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเข้าร่วมงาน

การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสองหน่วยงานที่ตระหนักถึงการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมุ่งเน้น การประยุกต์ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อการบำบัดโรค และส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาเกษตรอัตลักษณ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และพืชสมุนไพร พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ในการยกระดับมาตรฐานทักษะฝีมือขั้นสูงแก่บุคลากรในด้านการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก พร้อมพัฒนาสถานบริการทางการแพทย์แผนไทยในแหล่งท่องเที่ยวในมาตรฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับระดับสากล รองรับการเป็น World Medical Hub และสนับสนุนโครงการระเบียงสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor)

ภายในงานมีกิจกรรมทางวิชาการ นิทรรศการด้านวิจัย และนวัตกรรมการแพทย์แผนไทย และการใช้พืชเสพติดในทางการแพทย์ พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภายใต้หัวข้อ“การยกระดับการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” โดย คุณสมสุข สัมพันธ์ประทีป รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คุณนิติธร เทพบุตร กรรมการผู้จัดการ บจก.สุโขเวลเนส (คลินิกแพทย์แผนไทยสุโขเวลเนส) รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต ดร.จุฬาลักษณ์ โชคไพศาล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ พุทธรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายระบบขับเคลี่อนวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าว ปัจุบัน การขยายตัวของตลาดสมุนไพรสอดคล้องกับนโยบายที่ชัดเจนของประเทศในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพร ที่นำเอาจุดเด่นของประเทศ โดยเฉพาะพืชสมุนไพร มาพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ โดยกำหนดแนวทางการส่งเสริมพัฒนาสมุนไพรไทย ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ (แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 – 2565) และมีเป้าหมายในการเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และมีมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว นอกจากนี้ การลงนามในครั้งนี้ ยังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน

ในส่วนคุณค่าของกัญชาและสมุนไพรไทยที่สามารถนำพาประเทศไทย ไปสู่บริบทของสมุนไพรที่สร้างเศรษฐกิจชาติได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่มีคุณค่ามาก รวมทั้งนโยบายที่รัฐบาลทำการปลดล็อคกัญชาออกจากสารเสพติดซึ่งมีมูลค่ามากกว่า และผลักดันให้กัญชาไทยสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ในด้านการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ นำเอาจุดเด่นของภูมิปัญญาและสมุนไพรเพิ่มมูลค่า รับการเปิดประเทศอีกครั้ง เพราะการยกระดับกัญชา ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาส่งผลให้ปี 2564 ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง ในประเทศ มีมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท

ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดนโยบายกัญชาเสรี ตามประกาศแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นทุกกระบวนการทำงานอย่างบูรณาการและเป็นระบบ นำไปสู่นโยบายสุขภาพที่เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์และการวิจัย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายและการบริหารจัดการกัญชาเพื่อการแพทย์ซึ่งเปิดโอกาศให้หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนรวมตัวกันกับภาครัฐในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์และศึกษาวิจัย รวมถึงต่อยอดให้เกิดการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ เช่น ยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ เป็นต้น

ถือเป็นมิติใหม่ของทั้ง 2 องค์กร ในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาการศึกษาวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ต่อไป

…………………………….…………………..7 มีนาคม 2565…………………………………………………..