การขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดสตูล

จากกรณีคอลัมน์ “คมคิดฅนเขียน” โดยเขื่อนขันธ์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2562 ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล รายหนึ่ง มีพฤติกรรมส่อไปในทางปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ โดยมีการบันทึกรายงานสภาพการตรวจป่าและสถานที่ใกล้เคียงไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อการพัฒนาประเทศอย่างร้ายแรง นั้น

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) เร่งรัดตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริง ทราบว่า กรณีดังกล่าวเป็นการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าตระ ป่าห้วยหลอด และป่าเขาขุมทรัพย์ ท้องที่ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ของบริษัท สตูลไมน์นิ่ง จำกัด เนื้อที่ 166 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา ซึ่งต่อมาได้ขอปรับลดพื้นที่ลงเหลือ 149 ไร่ 2 งาน 81 ตารางวา เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) โดยกลุ่มชาวบ้านหมู่ 7 บ้านเขาแดง ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ได้มีข้อร้องเรียนว่า กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่มีความโปร่งใส และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งทางจังหวัดสตูลได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 (สงขลา) เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสตูล เจ้าหน้าที่อำเภอทุ่งหว้า เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล เจ้าหน้าที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งสิ้น 9 ครั้ง ระหว่างเดือนเมษายน – ธันวาคม 2560 ตามข้อร้องเรียนของราษฎร จนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ โดยทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล ได้แจ้งให้บริษัท สตูลไมน์นิ่ง จำกัด ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากราษฎรในพื้นที่อีกครั้ง พร้อมให้ชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นปัญหาให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 กำหนดว่า พื้นที่ที่จะพิจารณาอนุญาตได้ต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริการส่วนตำบลท้องที่ที่ป่านั้นตั้งอยู่

สำหรับกรณีข้อมูลการตรวจสภาพพื้นที่ป่าและสถานที่ใกล้เคียง มีข้อมูลไม่ตรงตามข้อเท็จจริงนั้น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสตูล (ทสจ. สตูล) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทาง ทสจ. ร่วมกับ ศูนย์ป่าไม้สตูล สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสตูล ปลัดอำเภอทุ่งหว้า และราษฎรผู้ร้องคัดค้าน จำนวน 3 ราย พร้อมด้วย คณะผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบระหว่างวันที่ 20 – 21 ธันวาคม 2560 พบว่า สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีสภาพป่าสมบูรณ์ ประมาณ 41 ไร่ 2 งาน พื้นที่ป่าละเมาะ 7 ไร่ 51.2 ตารางวา และพื้นที่เหลือเป็นพื้นที่ไม่หลงเหลือสภาพความเป็นป่า 69 ไร่ 2 งาน สำหรับบ่อน้ำซับและแหล่งน้ำซับ 5 จุด ซึ่งจากการตรวจสอบบ่อน้ำซับและแหล่งน้ำซับมีน้ำคงอยู่ ทั้งนี้ คณะผู้ตรวจสอบพื้นที่ได้มีบันทึกให้ความเห็นว่า แหล่งน้ำซับที่อยู่ในเขตพื้นที่ขอใช้ประโยชน์มีเพียง 3 แห่ง แต่ไม่มีข้อมูลมีน้ำตลอดปีหรือไม่ มีเพียงข้อมูล ณ วันเข้าตรวจสภาพพื้นที่ป่า ทั้งนี้ พื้นที่คงสภาพป่าสมบูรณ์ ทาง ทสจ. สตูล ได้เสนอให้กันเป็นพื้นที่ป่าและไม่เห็นควรให้ใช้ประโยชน์ อนึ่ง อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จังหวัดสตูล พิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อไป ทั้งนี้ คณะผู้ตรวจสอบได้ดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการ ขั้นตอน ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ

นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้รายงาน