“พาณิชย์” ติดอาวุธผู้ประกอบการเมืองจันท์ ลุยเสริมแกร่งสินค้าชุมชน เพิ่มรายได้ด้วย “ทรัพย์สินทางปัญญา”

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งผู้ประกอบการจันทบุรี ภายใต้โครงการพัฒนาต่อยอดสินค้าท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ปีที่ 2 ตั้งเป้าผลักดันสินค้าท้องถิ่นเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมสานต่อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “สินค้าและบริการในท้องถิ่นต่างๆ ของไทยมีจุดเด่นและมีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม ความเชี่ยวชาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่น หากได้รับการเสริมแกร่งในมิติด้านทรัพย์สินทางปัญญาจะยิ่งเพิ่มแต้มต่อให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งและดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงลงพื้นที่ชุมชนริมน้ำจันทบูร ชุมชนท่าแฉลบ ชุมชนขนมแปลกริมคลองหนองบัว และชุมชนบ้านเสม็ดงาม จังหวัดจันทบุรี สร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญาคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดทุกมิติ ทั้งด้านการจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองและต่อยอดการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์”

นายสินิตย์ กล่าวว่า “ขณะนี้มีผู้ประกอบการจังหวัดจันทบุรีกว่า 30 รายให้ความสนใจเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผ่านโครงการนี้ อาทิ ขนมโก๋ญวน ขนมม้าฮ่อ ผลิตภัณฑ์จากมะปี๊ด ผ้ามัดย้อม เครื่องประดับอัญมณี เสื่อกกแปรรูป น้ำมันนวด โฮมสเตย์ เป็นต้น โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะคัดเลือกสินค้าที่มีความพร้อมเข้าอบรมติดอาวุธทางการค้าแบบครบวงจร ทั้งการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การออกแบบตราสินค้า การสร้างแบรนด์ การปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว การทำการตลาดโดยใช้เพจหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ช่วยแนะนำสินค้า เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้ตอบโจทย์ความต้องการและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ กระทรวงฯ ตั้งเป้ายกระดับสินค้าชุมชนด้วยทรัพย์สินทางปัญญาให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป”

ด้าน นางสาวญานี สมใจเพ็ง ผู้ประกอบการภาชนะฟางอัดจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอารักษ์ ซึ่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2564 เปิดเผยว่า “กลุ่มอารักษ์รู้สึกประทับใจที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาช่วยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ทั้งการจัดทำคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การต่อยอดผลิตภัณฑ์ ช่วยออกแบบตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งแนะนำเทคนิคการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในการทำธุรกิจ โดยยึดสื่อออนไลน์เป็นช่องทางหลัก มียอดขายเดือนละกว่า 1,000 ชิ้น เพิ่มขึ้นจากเดิม 20% สร้างรายได้สู่ชุมชนมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน”

————————————————————–
กรมทรัพย์สินทางปัญญา
3 มีนาคม 2565