วันที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 19.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการเสวนา Leadership Dialogue with MEAs ในหัวข้อ “Strengthening Actions for Nature to Achieve SDGs” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเป็นการหารือในรูปแบบ online interaction เพื่อให้รัฐมนตรีที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 ช่วงที่ 2 (UNEA 5.2) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงนโยบายระดับประเทศเพื่อสนับสนุนการบูรณาการดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การทำงานร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เพื่อให้เกิดการดำเนินการตามอนุสัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้แทนระดับสูงเข้าร่วม 11 ประเทศ อาทิ จีน อียิปต์ แคนาดา อิรัก ไทย แอลจีเรีย ยูเครน สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ อุรุกวัย และผู้แทนองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วม 3 องค์กร อาทิ SAICM IUCN และศูนย์ระดับภูมิภาคของอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ได้ตอบประเด็นคำถามในช่วงการเสวนา ว่า ประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการเชื่อมโยงการประสานงานระหว่าง UNEP และสำนักเลขาธิการของข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs) อันจะเป็นกลไกการลดความขัดแย้งที่สำคัญ และลดภาระของประเทศที่มีทรัพยากรจำกัดในการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำให้ UNEP แสดงบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกัน ระหว่างสำนักเลขาธิการของ MEAs ในทุกระดับ และเสริมสร้างการประสานความเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสำคัญสู่ความสำเร็จของ MEAs อีกทั้งให้ข้อคิดเห็นถึงการมีงบประมาณที่มั่นคงและเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม การบริหารงบประมาณในการดำเนินงานของโครงการด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องดำเนินการบนหลักธรรมาภิบาลและมีความโปร่งใส ตลอดจนเรียกร้องให้ UNEA ในฐานะหน่วยงานสูงสุดของสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ควรสร้างบทบาทผู้นำในการสนับสนุนการดำเนินการตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบรรลุเป้าหมาย และเนื่องจากประเทศไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงาน UNEP ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมของ UNEP โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกต่อไป