‘กรมเจรจาฯ’ เตรียมรับมือ BREXIT เร่งเดินหน้าถก UK-EU ประเด็นแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีในกรอบ WTO

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ติดตามการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ความตกลง WTO ของสหราชอาณาจักร หลัง Brexit อย่างใกล้ชิด พร้อมเผยรัฐสภาสหราชอาณาจักรมีมติไม่ยอมรับข้อตกลง Withdrawal Agreement ฉบับล่าสุด รวมถึงไม่ยอมรับ no-deal Brexit รวมทั้งเห็นชอบการขยายระยะเวลาการออกจากสมาชิกอียู ขณะที่กรมฯ เอง อยู่ระหว่างเร่งเจรจากับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ในประเด็นการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีในกรอบของ WTO ที่สืบเนื่องจากเบร็กซิท ในโควตาสินค้า 31 รายการ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์การเจรจาเบร็กซิทระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป (อียู) อย่างใกล้ชิด เนื่องจากใกล้ถึงเส้นตายวันที่ 29 มีนาคม 2562 ที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างเป็นทางการ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาสหราชอาณาจักรได้ลงคะแนนเสียงและมีมติที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ สหราชอาณาจักรไม่ยอมรับข้อตกลงการออกจากสมาชิกอียู (Withdrawal Agreement) ฉบับที่อยู่บนโต๊ะเจรจา ไม่ยอมรับการออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ กับอียูเลย (no-deal Brexit) และเห็นชอบให้รัฐบาลขอให้อียูยินยอมขยายระยะเวลาการออกจากสมาชิกภาพออกไป ทั้งนี้ การขอขยายระยะเวลาดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกของอียูทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งมีกำหนดจะประชุมเรื่องนี้ร่วมกัน ในวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สหราชอาณาจักรทำการค้ากับอียูเป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 อีกร้อยละ 10 เป็นการค้าที่เกิดภายใต้ความตกลงที่อียูทำกับประเทศอื่น ซึ่งสหราชอาณาจักรได้ประโยชน์ในฐานะเป็นสมาชิกอียู กรณีการเจรจากับอียูไม่สามารถหาข้อสรุปได้ (no-deal Brexit) สหราชอาณาจักรได้เตรียมการเร่งเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้ากับประเทศที่มีความตกลงทางการค้ากับอียูก่อน เพื่อให้การค้าของสหราชอาณาจักรหลังออกจากอียูแล้ว (เบร็กซิท) ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น และยังคงได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เคยได้รับจากประเทศเหล่านั้นเมื่อครั้งยังเป็นสมาชิกของอียู

ล่าสุด สหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จในการจัดทำความตกลงทางการค้าที่เรียกว่า Continuity Agreement แล้วกับชิลี หมู่เกาะแฟโร แอฟริกาตะวันออกและใต้ (มาดากัสการ์ มอริเชียส เซเชลส์ และซิมบับเว) สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล รัฐปาเลสไตน์ และรัฐแปซิฟิก (ฟิจิ และปาปัวนิวกินี) ซึ่งความตกลงเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียูโดยสมบูรณ์ สำหรับการค้าที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 40 เป็นการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศที่เหลือในโลก รวมถึงไทย ซึ่งขณะนี้สหราชอาณาจักรได้เริ่มหารือกับประเทศที่มีการเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้ากับอียูเป็นลำดับต้นก่อน อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อมิให้การค้าหลังเบร็กซิทสะดุด และเตรียมการสำหรับเจรจาจัดทำความตกลงการค้าระหว่างกันต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างเจรจากับสหภาพยุโรปและ สหราชอาณาจักร เรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) อันสืบเนื่องมาจากเบร็กซิท เกี่ยวกับโควตาสินค้า จำนวน 31 รายการ เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลาแปรรูป พาสตา บิสกิต อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ที่ไทยเคยได้รับโควตาจากสหภาพยุโรป และจะต้องมีการจัดสรรแบ่งโควตาใหม่ภายหลังเบร็กซิท

ทั้งนี้ ในปี 2561 การค้าไทยกับสหราชอาณาจักรมีมูลค่า 7.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.40 ของการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออก 4.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 2.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหราชอาณาจักร เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น โดยประเทศคู่ค้าสำคัญของสหราชอาณาจักร ได้แก่ สหภาพยุโรป (580.89 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สหรัฐอเมริกา (129.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จีน (90.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สวิตเซอร์แลนด์ (34.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และนอร์เวย์ (30.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับ การค้าไทยกับสหภาพยุโรปมีมูลค่า 47.27 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.42 ของการค้าทั้งหมดของไทย โดยไทยส่งออก 25.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 22.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

———————————–

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์