กรมชลประทาน นำสื่อมวลชนลงพื้นที่รับฟังแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก เพิ่มศักยภาพอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง

กรมชลประทาน นำสื่อมวลชนลงพื้นที่รับฟังแนวทางการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก เพิ่มศักยภาพอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ต้นแบบการบริหารจัดน้ำครบวงจรภาคตะวันออก พร้อมเชื่อมโยงโครงข่ายผันน้ำส่วนเกินจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี  เพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุน เสริมความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา เน้นความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วนในภาคตะวันออกอย่างเท่าเทียมกัน

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงานชลประทานที่ 9 นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่รับฟังการบริหารจัดการน้ำในโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก (วังโตนด-ประแสร์-หนองค้อ-บางพระ) เพื่อศึกษาระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และโครงข่ายผันน้ำคลองวังโตนด โดยใช้สถานีสูบน้ำบ้านวังประดู่ จ.จันทบุรี มาลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี

นายเฉลิมเกียรติฯ  เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีศักยภาพและ เป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร โดยสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการบริหารจัดการน้ำผ่านคณะกรรมการ JMC ของโครงการ เพื่อให้สอดรับความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่ม เพื่อสร้างความมั่นคงให้เพียงพอ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำปัจจัยเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อปี 2548 และปี 2563 สามารถถอดบทเรียนมาวางแผนการพัฒนาได้ทั้งระบบ

“ทั้งนี้ พบว่า จ.ระยอง มีสภาพภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยในช่วงฤดูฝน เมื่อเทียบกับกับ จ.จันทบุรี-ตราด กรมชลฯ จึงได้ดำเนินการตามมติของ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552  ให้ดำเนินโครงการผันน้ำจากพื้นที่ จ.จันทบุรี ป้อนน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เพื่อรองรับกิจกรรมการใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งอุปโภค บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นการบริหารจัดน้ำด้วยการผันน้ำส่วนเกินมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ จ.ระยอง ได้มากขึ้น ” นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าว

สำหรับความคืบหน้าแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อผันน้ำจากพื้นที่ จ.จันทบุรี ไปสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ปัจจุบันมีแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด (ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2561 ) 2.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว (จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2565 ) 3.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ (จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2566 ) และ 4.อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ผ่านการพิจารณาของกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่าง การขอใช้พื้นที่เพื่อการก่อสร้าง หลังจากการพัฒนาโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จทั้งหมด จะทำให้มีขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำได้ 308.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ จ.จันทบุรี มีปริมาณน้ำมีเพียงพอในการกักเก็บ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค รองรับความต้องการน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาได้ปีละ 45 ล้าน ลบ.ม.

และสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้ 267,800 ไร่ และยังมีปริมาณน้ำที่ไหลทิ้งทะเลมากกว่าปีละ 800 ล้าน ลบ.ม. สามารถผันน้ำส่วนเกินไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปีละ 70 ล้านลบ.ม. แบ่งปันให้ชาว จ.ระยอง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืนด้วย นอกจากจะเป็นการเสริมแหล่งน้ำต้นทุนแล้ว ยังสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกสวนผลไม้ใน จ.ระยอง และเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในเขต เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จ.ระยอง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ได้อีกด้วย

ทางด้าน ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ” โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกจะเป็นตัวช่วยที่ดี ในด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งภาคตะวันออก อยากให้พี่น้องทุกคนตระหนักในเรื่องนี้ และสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดเกิดขึ้นได้สำเร็จ”