กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 9 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/65 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 ได้รับทราบมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้งปี 2564/2565 มีผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย

(1) เร่งเก็บกักน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และแหล่งน้ำธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบัน สามารถกักเก็บน้ำ 61,849 ล้านลูกบาศก์เมตร

(2) จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่และกรุงเทพมหานคร จำนวน 444 แห่ง สามารถสำรองน้ำได้ 181 ล้านลูกบาศก์เมตร และแหล่งน้ำสำรองผลิตประปาอีก 17 สาขาที่เฝ้าระวังเพิ่มเติม 82 ล้านลูกบาศก์เมตร

(3) ปฏิบัติการเติมน้ำ ให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการทำฝนหลวงจำนวน 4 หน่วย เพื่อจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ที่กำหนด เครื่องบินพร้อมขึ้นบิน 12 ลำ ยังไม่มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง

(4) กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ได้มีการจัดทำแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ จำนวน 16,678 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรน้ำแล้ว 9,773 ล้านลูกบาศก์เมตร (59%)

(5) วางแผนเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันได้มีการจัดทำแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จำนวน 11.65 ล้านไร่ มีการเพาะปลูกแล้ว 11.59 ล้านไร่ (99%) ซึ่งมีพื้นที่นารอบที่ 2 ที่เก็บเกี่ยวแล้ว 0.39 ล้านไร่

(6) เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ กรมชลประทานได้ดำเนินการเก็บน้ำหลากช่วงฤดูฝนปี 2564 มาใช้สำหรับการเตรียมแปลงในพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 ทุ่ง ปริมาณ 1,388 ล้านลูกบาศก์เมตร

(7) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ปัจจุบันคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ และมีการเฝ้าระวังน้ำเค็มรุก 4 ลำน้ำหลัก (แม่น้ำเจ้าพระยา/แม่น้ำบางปะกง/แม่น้ำท่าจีน/แม่น้ำแม่กลอง) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในเขต กปน. (กรุงเทพและสมุทรปราการฝั่งตะวันออก) และในเขต กปภ. 5 สาขา 3 จังหวัด อยู่ในเกณฑ์ปกติ

(8) ติดตามและประเมินผล มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นรายสัปดาห์ และรายเดือน

(9) ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ สถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ถึง ปัจจุบัน จำนวน 1,053 ครั้ง

2.แหล่งน้ำทั่วประเทศ

2.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 30,951 ล้าน ลบ.ม. (53%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 24,709 ล้าน ลบ.ม. (52%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,597 ล้าน ลบ.ม. (71%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,645 ล้าน ลบ.ม. (52%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา แม่งัดสมบูรณ์ชล ภูมิพล และสิริกิติ์

2.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 5,466ล้าน ลบ.ม. (30%) โดยเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย