+ ประเทศไทยตอนบน อากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณจ.นราธิวาส (227 มม.) จ.ยะลา (194 มม.) และ จ.สตูล
(171 มม.)
+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 31,125 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดใหญ่ 24,838 ล้าน ลบ.ม. (52%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)
+ ตั้งแต่วันที่ 25 – 26 ก.พ. 65 เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด (จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) รวม 18 อำเภอ 76 ตำบล 277 หมู่บ้าน
+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
+ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ หลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและเข้าท่วมในหลายพื้นที่ ได้สั่งการให้ กอนช. ประสานทุกหน่วยงานเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนพร้อมกำชับให้บริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว
กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ บริเวณแม่น้ำปัตตานี ที่ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และบริเวณแม่น้ำโก-ลก ที่ จ.นราธิวาส มีระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ซึ่งปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมขังอยู่และมีแนวโน้มลดลง กอนช. ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์และออกประกาศแจ้งเตือน เมื่อวันที่ 22 และ 25 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยง และให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมการเฝ้าระวัง พร้อมประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หยุดการระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เป็นการชั่วคราวจนกว่ามวลน้ำหลากจะระบายลงสู่ทะเลเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วม รวมทั้งได้ประสานกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปัตตานี จ.ยะลา และประตูระบายน้ำปรีกี จ.ปัตตานี ร่วมกับคลองต่าง ๆ เพื่อตัดยอดน้ำ หน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ หน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครและมูลนิธิต่าง ๆ ได้เร่งเข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว
จากการคาดการณ์ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.65 ปริมาณฝนตกในพื้นที่จะเริ่มลดลง ประกอบกับขณะนี้หน่วยงานได้เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ คาดว่าหากไม่มีฝนตกในพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จะเริ่มคลี่คลายเป็นลำดับ