กระทรวงคมนาคมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพในการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

กระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามแผนแม่บทบูรณาการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมาตรฐานความโปร่งใสเทียบเท่าระดับสากล ตามกรอบวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพในการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตประพฤติมิชอบของกระทรวงคมนาคม ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2565 ภายใต้โครงการขับเคลื่อนด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตและด้านการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี นางจตุพร เนียมสุข ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารและบุคลากรหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ผู้ดำเนินงานทางด้านการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม และผ่านระบบ Zoom

นายชยธรรม์ พรหมศร กล่าวว่า งานของกระทรวงคมนาคมมีภารกิจที่ชัดเจน และมีโครงการที่จะต้องดำเนินการในเรื่องของโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้มอบให้กับทุกหน่วยงานและข้าราชการทุกคนในสังกัดกระทรวงฯ ให้ดำเนินงานโดยยึดหลักความถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย และที่สำคัญได้เน้นย้ำทุกครั้งในเรื่องหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งในเรื่องความโปร่งใส (Transparency) การตรวจสอบได้ (Accountability) การที่จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย สำคัญที่สุดคือความรู้ โดยต้องรู้เท่าทันในรายละเอียดของระเบียบและกฎหมาย ต้องบริหารจัดการเพื่อไม่ให้งานของกระทรวงฯ มีอุปสรรค ขาดความต่อเนื่อง หรือเกิดความล่าช้า ซึ่งความรู้ในการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก หากดำเนินการโดยขาดความรู้อย่างละเอียดในเรื่องระเบียบและกฎหมาย รวมทั้งขาดการวางแผนในเรื่องการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) จะทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าของโครงการต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนนโยบาย แผนปฏิบัติงาน และแผนในเชิงงบประมาณได้ ดังนั้น ขอให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนให้ความสนใจ เนื่องจากการประชุมในครั้งเดียวอาจไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพได้ จะต้องนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญจะต้องถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้ปฏิบัติในองค์กรทั้งหมด และร่วมกันทำงานเป็นทีม เน้นในเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ ที่ได้รับความรู้ ซึ่งได้มอบแนวทางวิธีการทำงานกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยทุกคนในทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้งานในภารกิจของกระทรวงฯ ดำเนินการได้อย่างสำเร็จ รวมทั้งขอให้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการประชุมฯ ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญให้ดำเนินการอย่างรู้เป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงานขององค์กรต่อไป

สำหรับการจัดกิจกรรมฯ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) พัฒนากลไก/มาตรการในการป้องกันการทุจริตเชิงรุกจากการมีส่วนร่วมในการดำเนินการบริหารความเสี่ยงการทุจริตของกระทรวงฯ โดยมีหลักเกณฑ์และคู่มือแนวทางปฏิบัติ 2) เสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายต่อต้านการทุจริตให้มีความเข้มแข็งในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตในหน่วยงาน ตรวจสอบการดำเนินงาน ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานให้มีความโปร่งใส และพัฒนาขยายผลต่อยอดเครือข่ายเพิ่มขึ้น 3) ส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ มีธรรมาภิบาลในการดำเนินงานและมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตเชิงรุก สร้างวัฒนธรรม ค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ก่อให้เกิดเป็นระบบของการเฝ้าระวังการทุจริต และ 4) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและองค์ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตเชิงรุกให้บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ