สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ก.พ. 65

+ ประเทศไทยตอนบน อากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส (371 มม.) จ.ยะลา (356 มม.) และ จ.ปัตตานี (202 มม.)
+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 31,250 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดใหญ่ 24,881 ล้าน ลบ.ม. (52%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)
+ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส
+ เกิดน้ำป่าไหลหลาก บริเวณ อ.สุคิริน อ.แว้ง และ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
+ กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก ในช่วงวันที่ 25-28 ก.พ. 65

กอนช. ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีปริมาณฝนตกหนัก มากกว่า 150 มิลลิเมตรโดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำ สายบุรีและแม่น้ำโก-ลก ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมไหลลงแม่น้ำมากขึ้น จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นเสี่ยงน้ำล้นสูงกว่าตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ อ.บันนังสตา อ.รามัน จ.ยะลา อ.สายบุรี อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และอ.แว้ง อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ อ.จะแนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในช่วงวันที่ 25-28 ก.พ. 65 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
– ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำในลำน้ำ/แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลง ของระดับน้ำทะเล
– ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก บุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อบูรณาการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
– ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่ชคาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงที

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 9 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2564/65
กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง สูบน้ำจากสระสี่เหลี่ยมเติมสระน้ำสาธารณะประโยชน์เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน
ให้กับระบบประปาหมู่บ้าน ในพื้นที่บ้านตะคร้อเก่า หมู่ที่ 6 ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 85 หลังคาเรือน 415 คน โดยจะดำเนินการสูบระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2565
2. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
2.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 31,139 ล้าน ลบ.ม. (54%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่
38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 24,881 ล้าน ลบ.ม. (52%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,612 ล้าน ลบ.ม. (71%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,646 ล้าน ลบ.ม. (52%) สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา แม่งัดสมบูรณ์ชล ภูมิพล และสิริกิติ์
2.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 5,551ล้าน ลบ.ม. (31%) โดยเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย
3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ถึงปัจจุบัน)
3.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 24,657
ล้าน ลบ.ม. (52%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 16,678 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 9,465 ล้าน ลบ.ม. (57%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 4,700 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 3,204
ล้าน ลบ.ม. (68%)
4. คุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนน้ำทะเลหนุนสูง
4.1 คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
4.2 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด เวลา 10.10 น. ประมาณ 1.43 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือสถานการณ์คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 65 สทนช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดำเนินโครงการวิจัย “การประเมินร่วมของประเทศไทยและเมียนมา ด้านอุทกภัยและภัยแล้งเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน” เพื่อทำข้อเสนอแนะวิธีการแก้ไขการบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำสาย-รวก และพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน
อาทิ 1) การพัฒนา Mobile Application การวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง พร้อมทั้งการคาดการณ์ล่วงหน้าให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบข้อมูลและเตรียมพร้อมรับมือได้ทัน โดยแสดงทั้ง 2 ภาษา (ภาษาไทยและเมียนมา) 2) การพัฒนาระบบแจ้งเตือนปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง 3) แบบจำลองการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการวางแผน
และประกอบการตัดสินใจ 4) แผนการจัดการน้ำระดับตำบลแบบมีส่วนร่วม เป็นต้น เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ
องค์กรผู้ใช้น้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และหน่วยงานในพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนดำเนินการต่อไป