ปส. นำทีมผู้เชี่ยวชาญไทยดูงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่น มุ่งวางแผนนโยบายเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายความปลอดภัยในอนาคต

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญไทย เดินทางศึกษาดูงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ ณ ประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญของ JAIF International Cooperation Center (JICC) ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 18 – 21 มีนาคม 2562 มุ่งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ถอดบทเรียนสำคัญ รวมทั้งศึกษาความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีใหม่ และหารือประเด็นที่เกี่ยวข้อง หวังนำข้อมูลที่ได้ประกอบการกำหนดนโยบาย  สร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมทั้งประยุกต์และพัฒนาการดำเนินงานรวมถึงการกำกับดูแล ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของไทยให้ทันสมัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

นางสาววิไลวรรณ  ตันจ้อย รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 17 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมวิศวกรรมความปลอดภัยแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย และบุคลากร ปส. เดินทางศึกษาดูงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ ณ สถานประกอบการทางนิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่น อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมา (ไดอิชิ)    โรงงานอุตสาหกรรมหนักมิตซูบิชิ พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา และสถาบันวิจัยผลกระทบจากรังสี ระหว่างวันที่ 18 – 21 มีนาคม 2562 ตามคำเชิญและให้การสนับสนุนของ JAIF International Cooperation Center (JICC)     หน่วยประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ การถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา มุ่งสร้างความตระหนัก ถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ รวมทั้งศึกษาความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์ระดับต่าง ๆ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการนำพลังงานนิวเคลียร์    มาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางและสามารถพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยได้อย่างเข้มแข็ง ตลอดระยะเวลากว่า    50 ปี ที่ผ่านมา รวมถึงศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในอนาคต

นางสาววิไลวรรณ กล่าวว่าการศึกษาดูงานในครั้งนี้นอกจากจะช่วยให้คณะผู้เชี่ยวชาญของไทยซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่นในเชิงลึก อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือร่วมกัน ในประเด็นสำคัญ อาทิ การสร้างการรับรู้และเครือข่ายการสื่อสารกับประชาชน (Public Communication) การเตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ (Emergency Preparedness) การสร้างหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการ (Technical Support Organization) ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานและการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์  ของไทยเป็นอย่างยิ่ง โดย ปส. คาดว่าการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับ JICC ในครั้งนี้จะช่วยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดสู่การกำหนดแผนงาน แนวทาง และนโยบายระดับประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ

  • ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงใหม่ ๆ เช่น การตรวจสอบโดยไม่ทำลายสำหรับชิ้นส่วนอุปกรณ์ของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เทคโนโลยีการเชื่อมชิ้นงานพิเศษโดยใช้ลำแสงอิเล็กตรอน (Electron Beam) การรื้อถอนและจัดการวัสดุที่มีรังสี (Decommissioning) ของสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รวมทั้งเทคโนโลยีระบบราง เทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันนานาชาติ (ITER) ที่มีความเที่ยงตรงสูง และเทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ ATMEA 1 ซึ่งเกิดจากการพัฒนาหลังจากเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา เป็นต้น
  • ด้านการแพทย์ เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาด้วยอนุภาคหนัก (Heavy Particle Therapy) และ การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton Beam Therapy) และผลกระทบจากรังสีต่อร่างกายในระยะยาว
  • ด้านการพัฒนาบุคลากรทางนิวเคลียร์ให้มีเพียงพอต่อการวิจัย พัฒนา และดำเนินงานเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ รวมทั้งการกำกับดูแลความปลอดภัยของประเทศในอนาคต

ปส. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในทางสันติภายในประเทศมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างเครือข่ายและผลักดันทุกภาคส่วนให้สามารถร่วมกันพัฒนาและยกระดับ  ความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นำไปสู่การบูรณาการและเชื่อมโยงงานระหว่างหน่วยงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมทั้งมีความพร้อมในการรองรับการจัดตั้งกระทรวงใหม่ และการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าทางนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียนอย่างมั่นคง ถาวร และมีประสิทธิภาพ