จังหวัดนครพนม จัดพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นางกาญจนี รุจนเสรี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับพัฒนาการจังหวัดนครพนมและภริยา นายอำเภอและภริยา หรือสมาชิกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม ทั้ง 12 อำเภอ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมในพิธีฯ

โอกาสนี้ นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะเบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ใจความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ พื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย”

นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทรงทอดพระเนตรกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วัดธาตุประสิทธิ์ และหอประชุมโรงเรียนนาหว้าพิทยาคม อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของโครงการศิลปาชีพ และในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครบ 90 พรรษา เพื่อสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์สู่คนรุ่นหลัง และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป และทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นของขวัญให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิคนำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา

โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง แสดงถึงความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชกรณียกิจ ของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ลายผ้าดังกล่าวทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่

“ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงค์

“ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ” หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทย

“ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข

“ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ

“ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้เชิญแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” มอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี โฮเต็ล แบ็งค็อก เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อนำมามอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละพื้นถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครพนม เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบทอดสู่ลูกหลาน ให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้กลุ่มทอผ้าในพื้นที่จังหวัดนครพนม นำแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ไปผลิตผ้า ปัจจุบันมีกลุ่มดำเนินการถอดแบบลายผ้าและเริ่มทอผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และมียอดสั่งซื้อแล้ว จำนวน 12 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า

2) ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า

3) กลุ่มทอผ้าบ้านบะหว้า อำเภอนาหว้า

4) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านหนองสังข์ หมู่ที่ 1 อำเอนาแก

5) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านหนองสังข์ หมู่ที่ 2 อำเภอนาแก

6) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านหนองสังข์ หมู่ที่ 7 อำเภอนาแก

7) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านหนองสังข์ หมู่ที่ 8 อำเภอนาแก

8) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองพระทำ บ้านหนองสังข์ หมู่ที่ 10 อำเภอนาแก

9) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองพระทำ บ้านหนองสังข์ หมู่ที่ 11 อำเภอนาแก

10) กลุ่มทอผ้าครามอินดี้ อำเภอนาแก

11) กลุ่มทอผ้าพระทำ บ้านหนองสังข์ อำเภอนาแก

12) กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านดอนแดง อำเภอนาทม

โดยจังหวัดนครพนมได้สร้างทีมพี่สอนน้องในการสอนถอดแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ เน้นการย้อมสีธรรมชาติจากพืชสมุนไพรไม้มงคลในพื้นถิ่น รวมทั้งมีการขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบประชารัฐ 7 ภาคี มีการทำ MOU 73 หน่วยงานภาคี มีการรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทย ประชาสัมพันธ์เชิญชวนทุกส่วนราชการ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ กลุ่มองค์กร เครือข่าย สวมใส่ผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และส่งเสริมสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยและรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ภายใต้คำขวัญ “ชาวนครพนมภาคภูมิใจ สวมใส่ผ้าไทยทุกวัน” นำรายได้สู่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 297 กลุ่ม/ราย จำนวนสมาชิกรวม 1,863 ราย ยอดจำหน่ายผ้าและเครื่องแต่งกาย ในปี 2564 จำนวน 477,720,070 บาท และปัจจุบันมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง และในปี 2565 จังหวัดนครพนมได้สร้างทีม “คนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน” เพื่อเป็นทีมนักออกแบบผ้าไทย นักการตลาดผ้าไทย วิเคราะห์แนวโน้มการผลิต การตลาด เพื่อพัฒนารูปแบบ การแปรรูปและการตลาดผ้าไทยนครพนมให้แปลกใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาสู่สากล นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นการสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยสู่ความยั่งยืน