กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่า

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่า โดยมี นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมเป็นพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลง  ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับผิดชอบดูแลสัตว์ป่าพ่อแม่พันธุ์ สัตว์ป่าของกลาง และสัตว์ป่าจากกรณีแก้ไขปัญหา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ในขณะที่งบประมาณในการดูแลมีอยู่อย่างจำกัด การบริหารจัดการด้านอาหารและสวัสดิภาพสัตว์ป่าเป็นเรื่องที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการจัดการด้านอื่น ๆ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดูแลด้านอาหารสัตว์ป่าที่อยู่ในความรับผิดชอบการสนับสนุนด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่าจากบริษัทสยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ส่งต่ออาหารที่ยังรับประทานได้ หรือเรียกว่า “อาหารส่วนเกิน” (Food Waste)

โดยนำอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด ฯ ส่งต่อให้หน่วยงานภาคสนามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวม 27 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาอาหารส่วนเกิน (Food Waste) ของบริษัท สยามแม็คโครจำกัด (มหาชน) ที่ประสบปัญหามีอาหารส่วนเกิน (Food Waste) เพิ่มสูงขึ้น  การสนับสนุนให้นำอาหารส่วนเกิน (Food Waste) ไปเป็นอาหารและเสริมสร้างสวัสดิภาพสัตว์ป่า จึงเกิดประโยชน์ต่อทั้งสองหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณอาหารส่วนเกิน (Food Waste) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างสวัสดิภาพสัตว์ป่า

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีระยะเวลา 2 ปี