สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 14-18 ก.พ. 65 และแนวโน้ม 21-25 ก.พ. 65

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า เคลื่อนไหวขึ้นลงระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี รัฐมนตรีพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นาย Suhail al-Mazrouei เห็นว่าความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น มากกว่าเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน โดยตลาดให้น้ำหนักต่อวิกฤติยูเครนมากกว่ากระแสข่าวการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน, และเยอรมนี (P5+1) ซึ่งผู้แทนของสหภาพยุโรป (EU) ที่กำลังดำเนินการประชุมรอบที่ 9 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะบรรลุข้อตกลงภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หากสำเร็จจะทำให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วม JCPOA และยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ทำให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น

ให้จับตาภูมิอากาศแปรปรวนอาจส่งผลกระทบต่อภาคพลังงาน อาทิ พายุ Eunice (ความเร็วลม 196 กม./ชม.) พัดกระหน่ำยุโรปเมื่อ 19 ก.พ. 65 โดยเฉพาะอังกฤษ ทำให้ไฟฟ้าดับกว่า 1.3 ล้านครัวเรือน แม้จะสามารถกู้ระบบส่วนใหญ่กลับมาได้ภายในวันเดียวกัน แต่ไฟฟ้ายังคงดับประมาณ 155,000 ครัวเรือน ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 คนในอังกฤษ และ 6 คนในไอร์แลนด์ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเบลารุส นาย Viktor Khrenin ประกาศขยายเวลาซ้อมรบร่วมกับรัสเซีย ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.พ. 65 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังทหารยูเครนโจมตีกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (ซึ่งสนับสนุนการควบรวมกับรัสเซีย) ในเมือง Donetsk และ Luhansk ทางตะวันออกของยูเครนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 17 ก.พ. 65

อีกทั้งมีรายงานเมื่อ 19 ก.พ. 65 ว่าเกิดเหตุวินาศกรรมท่อ Druzhba ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบเครือข่ายท่อปิโตรเลียมซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก (ความยาวรวมประมาณ 4,000 กม. กำลังการขนส่ง 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ส่วนใหญ่ใช้ขนส่งน้ำมันดิบจากรัสเซีย และคาซัคสถาน ไปทั่วยุโรปตะวันออก อย่างไรก็ตามจุดที่ถูกโจมตีเป็นส่วนสำหรับส่งก๊าซฯ ท่อดังกล่าวขนส่งก๊าซธรรมชาติไม่มากนัก โดยจุดระเบิดอยู่ที่เมือง Luhansk ในยูเครน ซึ่งเป็นบริเวณที่เกิดข้อพิพาท

รายงานฉบับเดือน ก.พ. 65 ของ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 100.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 870,000 บาร์เรลต่อวัน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) ของญี่ปุ่นมีแผนออกประมูลขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ครั้งที่ 2 ให้กับผู้ซื้อในญี่ปุ่น ในวันที่ 9 มี.ค. 65 ปริมาณรวม 635 ล้านบาร์เรล โดยแบ่งเป็น 943,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบ 20 เม.ย.- 31 ก.ค. 65 และ 692,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งมอบ 20 เม.ย.- 31 ส.ค. 65

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Jerome Powell แสดงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ (ในเดือน ม.ค. 65 อยู่ที่ +5% จากปีก่อน) ว่าอาจต้องใช้ความพยายามในการชะลอมากกว่าที่คาด ทั้งนี้ S&P Global Platts คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 จำนวน 6 ครั้งๆ ละ 0.25% โดยจะเริ่มในเดือน มี.ค. 65